รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันกระจายวัคซีนลงพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่อง ชี้ตั้งแต่เดือนตุลาคมมีการกระจายลงไปแล้วอาทิตย์ละห้าแสนโดส เน้นพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เร่งฉีดให้ครอบคลุม 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ด้านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุ ได้รับวัคซีนต่อเนื่องและเพียงพอรอแค่คนเข้ามารับการฉีด
การระบาดของโควิด-19 ใน 5 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และนครศรีธรรมราช ยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 2,000 คนต่อวัน แม้ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเดินหน้านำโมเดลของกรุงเทพมหานคร ไปใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดแต่แนวโน้มการระบาดยังไม่มีสัญญาณว่าจะลดลง
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหม ในฐานะประธาน ศบค.ชุดใหม่ ได้ตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบค.ส่วนหน้า โดยแต่งตั้ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ จนถูกตั้งคำถามว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้หรือไม่
ล่าสุดทีมข่าวท็อปนิวส์ โทรศัพท์สอบถามนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งวัคซีนสู่จังหวัดทางภาคใต้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยอาทิตย์ละ 5 แสนโดส โดยจะมีการจัดสรรตามจำนวนประชากรในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดน้อย ก็จะได้รับตามสัดส่วน ส่วน 5 จังหวัด คือ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และนครศรีธรรมราช ได้จัดสรรให้มากขึ้น เพราะ 5 จังหวัดดังกล่าวพบผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นทุกวัน
นายอนุทิน ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุข เร่งเข้าไปดูแลโดยเร่งปูพรมฉีดวัคซีน ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีทิศทางแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและยังพบผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยการฉีดวัคซีน ใน 4 จังหวัดภาคใต้ พบว่า มีการเร่งระดมฉีดเพิ่มขึ้นอย่างมากมีจังหวัดที่ฉีดเกือบจะครอบคลุม 70% แล้ว ได้แก่ ยะลา สงขลา นราธิวาส ส่วน ปัตตานี กำลังใกล้ความครอบคลุมเกือบ 50%
อย่างไรก็ตาม จากที่มีการติดเชื้อ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีการส่งสรรพกำลังลงไปช่วยเหลือ ทั้งการสอบสวนโรค ให้บริการการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ยังต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่และหน่วยงานในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา
และที่สำคัญ ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ที่ได้ร่วมด้วยช่วยกันเร่งรัดการฉีดวัคซีน แต่ถ้าเกิดว่าที่บ้านมีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอนติดเตียงไม่สามารถรับบริการได้ สามารถแจ้งไปที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้าน ผู้นำชุมชน เพื่อจะได้จัดตั้งหน่วยงาน ฉีดวัคซีนที่บ้าน
ด้านนายแพทย์ รุสตา สาและ หัวหน้ากลุ่มงานด้านพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาบาล จ.ปัตตานี และในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามปัตตานี เปิดเผยว่า เรื่องของวัคซีนตอนนี้มีเพียงพอแล้ว โดยจะเน้นวัคซีนที่ฉีดแล้วกระตุ้นภูมิได้ดี เช่น ไฟเซอร์ที่ได้รับสรรมาก็มีเพียงพอ แต่เกิดปัญหาคนที่อยากจะฉีดวัคซีนมีน้อยลง คนที่ต้องการฉีดวัคซีนในตอนนี้จะเป็นกลุ่มเข็มกระตุ้นมากกว่า
สำหรับ ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวนฉีดสะสมเข็มแรก 42.09% เท่านั้น ในจำนวนนี้ 7 กลุ่มโรคเสี่ยงและหญิงตั้งครรภ์ฉีดแล้ว 51.47% ประชาชนทั่วไป 37.26% หลายอำเภอรอบนอก เช่น อ.หนองจิก อ.ทุ่งยางแดง มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างน้อย ในขณะที่อำเภอเมืองฉีดแล้วเกิน 70% ตอนนี้ ต้องปรับแนวทาง หากเราเดินถือกระเป๋า ข้างซ้ายถือชุดตรวจเอทีเค มือขวาถือวัคซีน หากใครตรวจเอทีเคแล้วผลออกมาเป็นบวกอาจจะต้องฉีดวัคซีนโควิดเลย ต้องยอมรับว่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีปัญหาคล้ายกัน คือ มีกลุ่มคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน มีการทะเลาะถกเถียงกันว่าทำไมต้องฉีด ถือเป็นลักษณะพิเศษในพื้นที่
ด้านนายแพทย์ จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างเพียงพอเพราะเมื่อวานนี้(21 ต.ค.) เพิ่งได้รับการจัดสรรวัคซีนมา 4 หมื่นโดส อยู่ระหว่างกระจายไปยังหน่วยบริการในพื้นที่ คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 50 เปอร์เซ็นต์ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้