เมื่อวานนี้(23 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวTOPNEWSรายงาน จากรณีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีนักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ส่วนหนึ่ง นำโดย ศ.ดร. ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มช. และ รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. ได้ร่วมกันออกมาชุมนุม พร้อมทั้งแสดงความไม่พึงพอใจจากการที่คณาจารย์ และนักศึกษา คณะวิจิตรศิลป์ ได้มีการทำหนังสือขอใช้สถานที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม เพื่อจัดนิทรรศการศิลปะนิพนธ์ MADs Pre-degree Exhibition 2021 ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่กลับมีคำสั่งให้มีการตรวจสอบหรือสแกนผลงานนักศึกษา ว่ามีผลงานที่เข้าข่ายการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือมีผลงานที่ส่อไปในทางผิดกฎหมาย ทำให้นักศึกษามองว่าเป็นการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษา จึงไม่ยินยอมให้ทางมหาวิทยาลัยตรวจสอบผลงานศิลปะ และทางกลุ่มอ้างว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่อนุมัติให้ใช้สถานที่ พร้อมกับนำกุญแจมาล็อกประตู รวมถึงตัดน้ำตัดไฟฟ้าของหอศิลป์
กระทั่งเวลาต่อมา กลุ่มนักศึกษาและคณาจารย์ ได้เดินทางไปบริเวณประตูด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรม ที่มีการล่ามโซ่ล็อกกุญแจไว้ ไม่สามารถเดินทางเข้าไปด้านในได้ กระทั่งมีการใช้คีมตัดเหล็ก ตัดโซ่ที่ใช้ล็อกประตูทางเข้า ก่อนที่ทางกลุ่มนักศึกษาและคณาจารย์ทั้งหมด จะเฮโลเข้าไปยังบริเวณทางเข้า และหาทางเข้าไปภายในตัวอาคาร แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากถูกตัดน้ำ ตัดไฟ กระทั่งมีการเจรจาจนสามารถใช้น้ำใช้ไฟได้ในเวลาต่อมา และมีกำหนดจัดการแสดงศิลปะนิพนธ์ได้ ระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 64 ซึ่งตลอดการจัดงานมีพลังมวลชนบางส่วน คอยมาดูแลเพื่อรักษาความปลอดภัย
ขณะที่การแสดงศิลปะนิพนธ์วันสุดท้าย (23 ตุลาคม 64) ในช่วงเย็นได้มีกลุ่มนักศึกษา สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ ได้มารวมตัวกันบริเวณลานจอดรถด้านหน้าหอศิลป์ฯ โดยอ้างว่าเป็นการแสดงปิดนิทรรศการ มีการนำโลงศพสีขาว จำนวน 2 ใบ มาวางบนพื้น จากนั้นมีการนำภาพถ่ายเอกสารขาว-ดำ ของ นพ.นิเวศน์ นัทจิต อธิการบดี มช. และ รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิตรศิลป์ มช. ใส่ลงไปในโลงที่มีห่อผ้าสีขาวมัดไว้ด้านใน จากนั้นมีการอ่านแถลงการณ์ของแกนนำนักศึกษาเรื่องการถูกลิดรอน คุกคามสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษา ในการเซ็นเซอร์งานศิลปะและการอนุญาตใช้สถานที่ของผู้บริหาร มช.และคณบดีวิจิตรศิลป์ มช. กระทั่งต้องเข้ามาทวงคืนพื้นที่ จากนั้นได้มีการนำน้ำมันมาราดลงไป และจุดไฟเผาโลงศพ
รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิตรศิลป์ มช. เปิดเผยว่า หอศิลป์ฯที่ใดก็ตาม ก็ต้องมีกฎระเบียบในการขอใช้สถานที่ สำหรับทางคณะวิตรศิลป์เอง ในแต่ละปีจะมีเวลาให้ยื่นเรื่องส่งโครงการขอใช้สถานที่ และต้องมาดูว่าขั้นตอนของสาขาวิชาที่มาขอใช้สถานที่ ดำเนินการถูกต้องหรือไม่ เพราะการส่งจดหมายมาอย่างกระชั้นชิด ที่ตามปกติของทางราชการต้องไม่น้อยกว่า 15 วัน และต้องมีอาจารย์ประจำที่รับผิดชอบโครงการ แต่เนื่องจากการส่งหนังสือมาครั้งแรกไม่ครบถ้วน ไม่มีชื่ออาจารย์ที่รับผิดชอบ จึงเกิดความเข้าใจผิดในกระบวนการบางอย่าง และการส่งงานเพื่อตรวจสอบเจ้าหน้าที่ไม่ได้ก้าวล่วง เรื่องเซ็นเซอร์ผลงานที่จะจัดแสดง เพียงต้องการตรวจสอบผลงานที่แจ้งมา 40 ชิ้น แต่นำมาจริงเพียง 10 กว่าชิ้นเท่านั้น จะดูเพียงวัสดุที่ใช้จัดแสดง การจัดวาง หรืออื่น ๆ ว่ากระทบกับตัวอาคารหรือโครงการสร้างพื้นที่หอศิลป์ฯ หรือไม่
“ถ้าจะบอกว่าเป็นการลิดรอนหรือเซ็นเซอร์งาน จริงแล้วทางกรรมการยังไม่ได้ไปลิดรอนหรือเซ็นเซอร์ผลงานเลย เพราะยังเห็นผลงานไม่ครบ ที่สำคัญการเรียนการสอนนั้น นักศึกษาต้องฝึกที่จะเป็นผู้ใหญ่ เพราะการเรียนการสอนของสายศิลปะ นักศึกษาสามารถจัดแสดงงานศิลปะเองได้ เรียนรู้ที่จะประสานงานติดต่อ หรือเข้าใจกฎระเบียบของสังคม และการปฏิบัติที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของการใช้พื้นที่ของการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม ฉะนั้นการที่เกิดการเรียกร้อง หรือการให้ข่าวที่เข้าใจผิดต่าง ๆ มันมีประเด็นที่ถูกเบี่ยงเบน เพราะในส่วนของคณะ รวมทั้งสโมสร หรือสภานักศึกษา พยายามที่จะเข้ามาประสานงาน โดยรับฟังในส่วนของนักศึกษาก่อน ค่อยมารับฟังทางคณะ ซึ่งข่าวออกไปว่าคณบดีเรียกมาคุยนั้นไม่เป็นความจริง”
รศ.อัศวิณีย์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า จะมีเรื่องของการเมืองไหม จริงแล้วต้องบอกว่า การทำงานศิลปะ มันควบคู่มากับเรื่องของสังคม ชีวิต เรื่องของหน้าที่พลเมือง การเมือง มันมีมานานแล้ว แต่การเรียนการสอน สอนเพื่อให้เด็กรู้จักการถ่ายทอดอารมณ์ รู้จักการสื่อสารด้วยการใช้ศิลปะ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เอามาใช้ให้เกิดประเด็นความขัดแย้ง เนื่องจากว่าถ้าทุกคนสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีสถาบันศิลปะ.