เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว “Top News” เรื่อง แถลงการณ์องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) โดยคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ว่า เสียดายประเพณีที่สืบเนื่องกันมา ถ้าประเพณีอะไรที่เราเคยทำกันมาแล้วไม่ได้สร้างปัญหาให้กับสังคมปัจจุบัน และไม่ปรากฎความจำเป็นหรือเหตุผลใดๆที่ไม่สมควร ตนอยากเห็นประเพณีคนไทยไม่ว่าจะระดับชาติหรือระดับองค์กรมีสืบเนื่องไป ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมี แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องยกเลิก เพิกถอน หรือทำลายไป เรามีวิธีปรับตัวปรับพฤติกรรมประเพณีที่เคยมีมาแต่ก่อนให้สอดคล้องกับสังคมใหม่ได้ โดยไม่ต้องทำลายให้สิ้นไป เพราะการทำลายถือเป็นการลบล้างความจริงที่เคยเกิดขึ้น และถือปฏิบัติในสังคมมาแต่เดิม จากรากเหง้าของสังคมในระดับชาติ และระดับองค์กร ถ้าดูแนวปฏิบัติทุกประเทศ เขาจะไม่ลบล้างประเพณีที่ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายในสังคมปัจจุบัน
ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ กล่าวต่อว่า จุดอ่อนจุดด้อยประเพณีใด หากยังมีอยู่ก็หาทางปรับจุดอ่อนนั้น แล้วเสริมจุดเด่นให้มีคุณค่าในสังคมปัจจุบัน จะเป็นวิธีจัดการที่ดีกว่าและเป็นที่นิยมในสังคมอารยะโลกปัจจุบันและอนาคต
เมื่อถามว่า เหตุผลการยกเลิกประเพณีครั้งนี้ อ้างว่าล้าหลัง ทำให้คนไม่เท่าเทียม และเป็นระบบศักดินา ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ กล่าวว่า คิดมากเกินไปหรือไม่ เพราะเราไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น และไม่ได้มีความหมายมากมายขนาดนั้น เป็นความคิดที่หวาดกลัวเกินไปหรือไม่ เพราะบางครั้งการที่คิดสุดด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้เราอาจเสียดุยลภาพ ถ้าเป็นเรื่องส่วนบุคคลก็ไม่เป็นอะไร แต่หากเป็นเรื่องที่กระทบส่วนรวม มันก็จะมีปัญหาที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง และเป็นข้อวิวาทบาดหมางกันโดยไม่จำเป็น ไม่มีประโยชน์อะไร ควรคิดเรื่องใหม่ๆ ดีๆ เป็นสิ่งที่ปรารถนาสำหรับประเทศชาติดีกว่า ความคิดของเราอาจสร้างความรุนแรงมากกว่าประโยชน์ต่อประเทศชาติ คนที่คิดนี้ควรคิดและทำสิ่งดีๆให้กับสังคม ต้องติดให้ลึกซึ้งมากๆ ทบทวนปรุงแต่งด้วยความประณีตบรรจง อย่าให้ทุกอย่างเป็นความคิดเพียงด้านใดด้านเดียว เพราะสังคมประกอบด้วยคนที่แตกต่างหลากหลาย ไม่เช่นนั้นจะทำให้สังคมฉีกขาด จะได้ไม่เท่ากับเสีย
“คนที่มุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาประเทศชาติ งานนี้เป็นงานใหญ่และงานยาก หากทำด้วยความรู้สึกแต่ปราศจากการวิเคราะห์ วิจัย ดังนั้นควรหาข้อมูลให้รอบด้านเสียก่อน” ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ กล่าว