24 ตุลาคม 2564 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ร่วมกับ นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท เสนอผลสำรวจเรื่อง “ความสุขมวลรวมของคนไทย” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 1,092 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-23 ตุลาคมที่ผ่านมา
ผลสำรวจพบว่า ความสุขมวลรวมของคนไทยด้านความมั่นคง การเมือง และระบบราชการ อันดับแรกคือ ความสุขที่ได้เห็นคนไทยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แสดงความจงรักภักดี กตัญญูต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และแผ่นดินไทย ได้ค่าคะแนนเฉลี่ย 8.48 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
แต่คะแนนความสุขมวลรวมที่ตกต่ำ คือ การทำงานของข้าราชการและระบบราชการ ได้คะแนนเฉลี่ย 4.98 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งถือว่า “สอบตก” เพราะต่ำกว่าครึ่ง ตามด้วยวิกฤติโควิด-19 และ วิกฤติเศรษฐกิจ ได้คะแนนความสุข 3.63 คะแนน ความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ ได้คะแนนความสุข 3.56 คะแนน และที่ตกต่ำที่สุด ได้แก่ ภาพลักษณ์นักการเมืองและบรรยากาศการเมือง ทำคนไทยมีความสุขด้วยคะแนนเฉลี่ยเพียง 3.51 คะแนนเท่านั้น
สำหรับความสุขมวลรวมของคนไทยในด้านสังคม สูงสุดได้แก่ ครอบครัวของตนเอง มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 9.12 คะแนน รองลงมาได้แก่ ศาสนา วัฒนธรรมประเพณีที่ถือปฏิบัติมา 9.09 คะแนน สุขภาพกาย 8.55 คะแนน สุขภาพใจ ได้ 8.25 คะแนน ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ได้ 8.19 คะแนน และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ 6.76 คะแนน
ส่วนความสุขของคนไทยด้านเศรษฐกิจ คะแนนสูงสุดได้แก่ การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จริงจัง 8.57 คะแนน รองลงมาคือ อาชีพการงานของตนเอง 7.83 คะแนน ทรัพย์สิน ที่ดิน ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย 7.39 คะแนน ในขณะที่การเปิดประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้อง 6.43 คะแนน โดยมีปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ ที่ทำคนไทยมีความสุขต่ำเพียง 4.42 คะแนน