คุณนครินทร์ ประไพวงษ์ อดีตนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ฟาดแหลกไม่เห็นด้วยปมหนุนเลิกขบวนแห่เชิญพระเกี้ยว ตามมติ อบจ. ชี้การแห่เชิญพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการแสดงกตเวทิตาคุณแด่พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ผู้พระราชทานสถานศึกษาให้กับปวงชนชาวไทย
ภายหลังจากองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ออกแถลงการณ์ ประกาศยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติ ที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม มิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป และแถลงการณ์ลงท้ายด้วยข้อความที่ว่า “ให้คนเท่ากัน” ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องถกเถียงกัน 2 มุม ฝ่ายหนึ่งมองว่า ควรยกเลิก ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า ขบวนพระเกี้ยวแสดงถึงเกียรติภูมิของจุฬาฯ
ล่าสุดนายนครินทร์ ประไพวงษ์ อดีตนิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเคยเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 42 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2528 โดยได้เปิดใจกับทีมข่าวท็อปนิวส์
ซึ่งระบุว่า “… ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ซึ่งเป็นนโยบายที่นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อยากผลักดัน ตนฝากถึงนายเนติวิทย์ในฐานะรุ่นพ่อ อยากให้นายเนติวิทย์หยุดวาทะกรรมซ่อนเร้น
ซึ่งการออกมาเรียกร้องในเรื่องต่างๆที่ผ่านมา ก็มักจะมีวัตถุประสงค์แอบแฝงมาโดยตลอด ทั้งนี้นายเนติวิทย์ควรหยุดการกระทำในลักษณะนี้
ในขณะเดียวกันนิสิตปัจจุบันควรนึกถึงศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ความภาคภูมิใจที่ได้สะสมกันมา และที่สำคัญจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ก่อตั้งโดยล้นเกล้ารัชกาล 5 และ รัชกาลที่ 6 เป็นสิ่งที่ทุกคนควรภาคภูมิใจ อยากให้รำลึกถึงสิ่งเหล่านี้ไว้
การที่นิสิตจุฬาฯไม่ว่าใครที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมงานฟุตบอลจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะได้ทำหน้าที่อะไร ตั้งแต่อัญเชิญพระเกี้ยว เชียร์รีดเดอร์ แปลอักษร หรือเป็นสวัสดิการต่างๆในขบวนแห่
ก็ล้วนแต่มีเกียรติและทุกคนก็เก็บเป็นความทรงจำที่ดีไว้ตลอดชีวิต ตนในฐานะนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าเรื่องแนวทางการจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ นั้น
เป็นการแสดงออกในเรื่องของการสืบสานให้มีการอัญเชิญพระเกี้ยว เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ และความภาคภูมิใจในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
นอกจากนี้นายนครินทร์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายเพิ่มเติมด้วยว่า การที่ได้เป็นตัวแทนของนิสิตทำหน้าที่อัญเชิญสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
เปรียบเสมือนการแสดงกตเวทิตาคุณ แด่พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ผู้พระราชทานสถานศึกษาให้กับปวงชนชาวไทยไว้ตราบนานเท่านาน
พระเกี้ยว เป็นสัญลักษณ์ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยแห่งนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเกี้ยว เป็นพิจิตรเรขาประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก
จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ พระเกี้ยว เครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก เป็นเครื่องหมายของโรงเรียน ต่อมาโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พระเกี้ยว เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว เป็นคำนามแปลว่าเครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยาแปลว่าผูกรัดหรือพัน “จุฬาลงกรณ์” แปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือจุลมงกุฎ