จากกรณีที่ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน เผยว่า ประเทศไทยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัส หรือ AY.4.2 จำนวน 1 ราย โดยเป็นชายอายุ 49 ปี มีประวัติทำงานที่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ประชาชน ต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ดังกล่าว
ผู้สื่อข่าว Top News จึงได้ติดต่อสอบถามไปที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยระบุว่า จากข้อมูลของทั่วโลกมีรายงานตรวจพบโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัส ทั้งหมด 44 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นการพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าพลัสในประเทศไทยจำนวน 1-2 ราย ไม่ใช่เรื่องเรื่องผิดปกติ เพราะสายพันธุ์เดลต้าพลัสไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง อีกทั้งสายพันธุ์เดลต้าพลัสเป็นการกลายพันธุ์ของเชื้อเพิ่มขึ้นในกรดอะมิโน ที่เรียกว่า k417n ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ RNA ไวรัส จะมีการกลายพันธุ์ตลอด แต่จากการข้อมูลจนถึงเวลานี้ยังไม่มีหลักฐานว่า สายพันธุ์เดลต้าพลัสมีการแพร่กระจายที่เร็วขึ้น หรือรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งตัวพื้นฐานเดิมของสายพันธุ์เดลต้าพลัสเป็นตัวเดียวกับกับสายพันธุ์เดลต้า จึงหมายความว่าวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันกับสายพันธุ์เดลต้าพลัสได้ ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลกได้ติดตามดูโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งสายพันธุ์เดียวต้าพลัสยังไม่ได้ถูกจับตาเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด มีเพียง 2 สายพันธุ์ คือ แรมด้า และ มิวส์
เพราะฉะนั้น จนถึงตอนนี้วัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทย รวมถึงมาตรการเฝ้าระวังทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทุกสายพันธุ์ รวมไปถึงการฉีดวัคซีน ก็สามารถป้องกันจากเชื้อโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ทั้งนี้ หากทุกคนยังคงรักษามาตรการป้องกันของตนเองอย่างเข้มงวด ก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการคลายล็อกและเปิดประเทศ