พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชครินทร์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ให้ความรู้เรื่องนี้ ว่า การให้ความรักความอบอุ่นในครอบครัวเป็นเรื่องดีและถูกต้อง แต่การแสดงความรักมีรูปแบบต่างกันในแต่ละครอบครัว คำถามคือ ขอบเขตแบบไหนที่จะไม่เข้าเกณฑ์การละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งตรงนี้คิดยาก แต่ปกติแล้วเด็กจะต้องถูกสอนให้รู้จักขอบเขตร่างกายตัวเอง สิ่งที่ควรสื่อให้ชัด คือ ความรักของพ่อที่มีต่อลูกเป็นสิ่งถูกต้อง แต่วิธีการที่กระทำต่อลูกอาจทำให้ขอบเขตของการรักษาสิทธิเด็กไม่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้เด็กสับสนว่า การที่พ่อแม่รักจึงกระทำแบบนี้ หากคนอื่นรักก็ทำแบบนี้ได้เช่นกัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ต่างจากการสัมผัสร่างกายของเด็กในกรณีที่เด็กยังช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันไม่ได้ เช่น การล้างก้น แต่งตัว อาบน้ำ
“เด็กจะไม่รับรู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วไป ไม่ควรกระทำกับเขา จะกลายเป็นว่าเขารับรู้ว่าสิ่งนี้คนอื่นก็สามารถทำได้ แล้วแสดงแค่ไหนถึงจะดี ต้องคิดกลับว่าหากมีคนแปลกหน้ามาทำแบบนี้กับลูก เราโอเคหรือไม่ ซึ่งหากเราไม่โอเค แต่ลูกไม่รู้ว่าสิ่งนี้ไม่โอเค เขาจะปกป้องตัวเองอย่างไร” พญ.ดุษฎี กล่าวและว่า ต้องเน้นย้ำเด็กให้รู้จักระหว่างความรักกับการสัมผัสว่า 2 สิ่งนี้เป็นคนละเรื่องกัน
พญ.ดุษฎี กล่าวว่า ความรักกับขอบเขตในร่างกายของเด็กต้องมาด้วยกัน ซึ่งต้องเริ่มสอนตั้งแต่เด็กเริ่มพูดรู้เรื่อง หรือ 1 ขวบปีขึ้นไป คำแนะนำสำหรับเด็ก ผู้ปกครองต้องสอนให้เด็กรู้จักขอบเขตของร่างกาย เป็นสิทธิของตัวเองที่จะปฏิเสธไม่ให้คนอื่นมาสัมผัสร่างกาย โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหว คือ หน้าอก บั้นท้าย อวัยวะเพศ และแก้ม ต้องสอนให้รู้ว่าไม่ใช่จะให้ใครมาจับได้ เพราะจะนำมาสู่การล่วงละเมิดทางเพศได้ มีความเสี่ยงว่าคนที่มาจับในส่วนนี้ไม่มีเจตนาดีกับเด็ก ขณะเดียวกัน การเลี้ยงดูก่อนจะสอนให้เด็กรู้จักป้องกันอวัยวะได้ ต้องสอนให้รู้จักอวัยะก่อน เช่น กิจกรรมที่พ่อแม่เล่นกับลูก สอนให้รู้จักหู ตา จมูก แก้ม แขนขา รวมถึงอวัยะเพศ ซึ่งต้องสอนเด็กว่าส่วนนี้แม่จับได้หรือไม่ หากจับไม่ได้ ก็ต้องป้องกันไม่ให้คนอื่นมาจับเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกระแสข่าวการแสดงความรักของพ่อแม่และลูกที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ จะกระทบต่อเด็กอย่างไร และมีวิธีป้องกันอย่างไร พญ.ดุษฏี กล่าวว่า คำแนะนำสำหรับเด็กและครอบครัว คือ เลี่ยงการเสพข่าวในเด็ก ยังไม่ควรให้เด็กรับรู้ข่าวหรือความเห็นของสังคมในตอนนี้ที่มีทั้งบวกและลบต่อครอบครัวหรือเด็กเอง เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวต้องแข็งแรง ลดการตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้สถานการณ์สงบที่สุดสำหรับเด็ก ส่วนในวันที่เด็กไปโรงเรียน ต้องคาดการณ์กันถึงปฏิกิริยาของเพื่อนที่มีต่อเด็กเป็นอย่างไร ซึ่งครูประจำชั้นสามารถช่วยดูแลเด็กได้ สังเกตว่าเกิดปฏิกิริยาอะไรบ้าง เด็กถูกรังแกล้งหรือล้อเลียนหรือไม่ รวมถึงสังเกตอาการของเด็กว่าผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ แต่ไม่แนะนำให้ปฏิบัติกับเด็กมากกว่าปกติ
“หากเด็กไม่ได้เสพสื่อ ก็จะไม่เกิดความระแวงในครอบครัว รวมถึงความสัมพันธ์เดิมที่ครอบครัวอบอุ่นดีอยู่แล้ว ก็จะช่วยให้ความไม่ไว้วางใจหรือไม่ศรัทธาก็จะเกิดยากกว่า ขณะนี้สังคมกำลังช่วยสะท้อนอุณหภูมิสังคมว่า ยังไม่เหมาะสม ครอบครัวต้องประคองกัน ทุกคนเคยผิดพลาด แต่สิ่งที่เราจะช่วยกัน นอกจากสะท้อนแล้ว ก็ต้องให้พื้นที่เขาฟื้นขึ้นมา ลุกขึ้นมาดูแลลูกให้แข็งแรง ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะกับเด็ก มากกว่าการรุมกระหน่ำซ้ำเติม ต้องให้โอกาสให้พื้นที่เขาเปลี่ยนแปลงปรับให้เหมาะสมกับเด็ก” พญ.ดุษฏี กล่าว
เมื่อถามว่าการแสดงออกดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายล่วงละเมิดเด็กหรือไม่ พญ.ดุษฎี กล่าวว่า ถือเป็นการล่วงละเมิดเด็กได้ ในประเทศไทยตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ดูแลปกป้องให้เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาเพื่อเติบโตอย่างมีความสุขตามศักยภาพของตนเอง โดยพ.ร.บ.วางไว้ 2 หลักการ คือ 1.ตัวของเด็ก และ2.พฤติการณ์ที่กระทำเป็นไปในแนวทางละเมิดเสรีภาพของเด็กหรือไม่
“กรณีดังกล่าวโดยเจตนาของพ่อแม่อาจไม่ได้แย่ แต่พฤติการณ์ไม่ได้ ไม่เหมาะสม ส่วนพฤติการณ์ที่เข้าข่าย เช่น เด็กเป็นทุกข์กับสิ่งนั้น มีการคุกคามเสรีทางร่างกายและจิตใจเด็ก ประเด็นนี้อธิบายได้จากหลายครั้งที่การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ถูกแต่งตัวหรือสร้างความเข้าใจให้เหมือนว่าไม่ใช่การล่วงละเมิด(Child Grooming) เช่น พ่อบอกลูกว่าพ่อรักจึงทำแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วพ่อกำลังข่มขืนลูก(rape) ทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อ(Victims) เป็นต้น ”พญ.ดุษฎีกล่าว
พญ.ดุษฎี กล่าวทิ้งท้าย ว่า สิ่งที่จะต้องฝากพ่อแม่ที่เลี้ยงลูก คือ การให้ความรักกับเด็กเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่สม่ำเสมอ แต่ขณะเดียวกันต้องอยู่บนพื้นฐานของการสอนให้เด็กรู้จักขอบเขตในการดูแลร่างกายตัวเอง เพราะจะเป็นความปลอดภัยให้เด็กในอนาคตที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว ลูกจะต้องดูแลตัวเองให้ปลอดภัยได้