สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก ประเด็นวิจารณ์มาตรการเยียวยาของรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และข้อเรียกร้องให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ทั้ง 3 ระลอกนั้น โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบ 2 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราว ทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงเกษตรกรรายย่อย และผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย 2.มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ด้วยการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจของลูกหนี้ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีก 2 มาตรการ ดังนี้ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 250,000 ล้านบาท โดยการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม 2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท ในส่วนของมาตรการด้านภาษี รัฐบาลได้ออกมาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ดังนั้นผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการต่าง ๆ ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
อ่านรายละเอียดทั้งหมด ชี้แจงประเ… – สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง : Fiscal Policy Office | Facebook