“รมว.เฮ้ง” เตรียมถก4 หน่วยงาน แก้ปัญหาแรงงานลักลอบเข้าประเทศ

รมว.เฮ้ง เตรียมถก4 หน่วยงาน แก้ปัญหาแรงงานลักลอบเข้าประเทศ

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมศปก.ศบค. เห็นชอบแนวทางการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานตาม MoU ในสถานการณ์โควิดตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้เร่งหารือร่วมกับ สตม. กต. สธ. และกอ.รมน. เพื่อดำเนินการนำเข้าโดยเร็ว นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล. อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยปัญหาแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมืองตามเส้นทางธรรมชาติและการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย หลังพบสถานประกอบการในประเทศจำนวนมากขาดแคลนแรงงาน จึงได้มอบหมายกระทรวงแรงงาน แก้ปัญหาดังกล่าวและวางแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MoU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งวิธีนี้จะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างตรงจุด ส่งผลให้ปัญหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเพื่อทำงานลดน้อยลง

“สำหรับแนวทางเบื้องต้นยังคงจัดกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อนุญาตให้เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีเขียว ที่ฉีดวัคชีนครบ 2 เข็ม เป็นระยะเวลา 1 เดือนขึ้นไป จะได้พิจารณาเป็นลำดับแรก โดยต้องแสดงวัคซีนพาสปอร์ต กลุ่มสีเหลือง ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 1 เดือน และ กลุ่มสีแดงที่ฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็มหรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วยค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจหาเชื้อ COVID-19 ค่ารักษา (กรณีคนต่างด้าวติดเชื้อ COVID-19) หากอยู่ในกิจการที่อยู่ในระบบประกันสังคม และเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 หลังครบกำหนดระยะเวลากักตัวจะได้รับวัคซีนตามสิทธิผู้ประกันตน กรณีไม่ได้เป็นผู้ประกันตนม.33 นายจ้างจะเป็นผู้จัดหาวัคซีนทางเลือกให้แก่คนต่างด้าว ซึ่งการอนุญาตให้นำเข้า จะอนุญาตตามจำนวนสถานที่รองรับในการกักตัว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

นายสุชาติ กล่าวต่อไปถึงมาตรการที่กระทรวงแรงงานดูแลแรงงาน 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาว่า กระทรวงแรงงานดำเนินการปรับเปลี่ยนระเบียบ นโยบาย หรือมาตรการต่างๆ เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ขาดแคลนแรงงาน พร้อมกับควบคุมป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเสนอครม.เพื่อมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา อยู่ในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษภายใต้สถานการณ์ โควิดระลอกใหม่ โดยให้นายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้แรงงาน 3 สัญชาติ กว่า 4 แสนรายได้รับอนุญาตทำงาน

ต่อมาเสนอครม.เพื่อมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่แล้วหรือเคยได้รับอนุญาตทำงาน แต่ไม่สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอนปกติเนื่องจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด -19 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานได้ต่อไปถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หรือ 2 ปี นับแต่วันที่การอนุญาตเดิมสิ้นสุด รวมทั้งขยายเวลาการหานายจ้างจาก 30 วัน เป็น 60 วัน ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานกว่า 1 แสนคน ช่วยแก้ปัญหาให้นายจ้างที่ขาดแคลนแรงงาน และลดภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

และล่าสุดมติครม.เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว เป็นระยะเวลา 30 วัน เก็บตกแรงงาน 3 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะบันทึกข้อมูลนายจ้างและแรงงานต่างด้าว กำหนดวันนัดหมายให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนแรงงงานต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายประเทศไทย และได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมี หากอยู่ในกิจการที่มีประกันสังคมมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา33 และได้รับการคุ้มครอง และสิทธิการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับคนไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือหากไม่อยู่ในกิจการที่มีประกันสังคมก็ได้รับสิทธิประกันสุขภาพตามสิทธิประกันที่มีการกำหนดให้ทำเมื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีโครงการให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวด้านอาหาร โดยกระทรวงแรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่แรงงานต่างด้าวในแคมป์ก่อสร้าง และลดภาระนายจ้าง/สถานประกอบการที่ถูกปิดตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ร่วมระยะเวลา 27 วัน รวมแจกข้าวกล่องถึง 1 ล้าน 3 แสนกล่อง สามารถช่วยเหลือคนต่างด้าวได้เกือบ 8 หมื่นคน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากนี้จะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในเรื่องรายละเอียดขั้นตอน โดยจะหารือใน 7 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ 2. การดำเนินการของประเทศต้นทาง 3. การยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว 4. การอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ 5. จุดผ่านแดน/ด่านตรวจคนเข้าเมือง 6. สถานที่กักตัว 7. การอบรมและรับใบอนุญาตทำงาน เมื่อได้แนวทางที่ชัดเจน จะเสนอต่อที่ประชุม ศบค.เพื่อเริ่มดำเนินการทันที

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวกรวม 9 คน “ฉ้อโกง-ฟอกเงิน” ปลอมลายเซ็นอดีตลูกสะใภ้กู้เงิน 8 พันล้าน
ระทึกกลางดึก ไฟไหม้ "ร้านกาแฟ" เผาวอดทั้งหลัง เสียหายกว่า 7 แสนบาท
"อุตุฯ" เผย "เหนือ-อีสาน-กลาง" อากาศเย็นตอนเช้า เตือนใต้ยังรับมือฝนตก
แม่ทัพภาคที่ 2 ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนครอบครัวกำลังพล ห่วงใยไปถึงบ้าน เพราะเราคือครอบครัวกองทัพบก
สวนนงนุชพัทยาเปิดเวที CHONBURI PROUD EXPO 2024 หนุน SMEs ชลบุรีสู่ตลาดโลก
“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น