เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ.การกฎหมายฯ เป็นประธานการประชุม ได้มีการนำเรื่องที่นายสรชัช ทองเพ็ญ ผู้ประสานงานเครือข่ายธรรมาภิบาลเพื่อการเมืองสุจริต ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วีดีโอคอลคุยกับกรรมการบริหารพรรคและส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อวางตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเลือกตั้งสมัยหน้า ซึ่งอาจเข้าข่ายยินยอมให้บุคคลภายนอกครอบงำและแทรกแซงกิจกรรมพรรคการเมือง ทำให้สมาชิกพรรคขาดความเป็นอิสระขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และมีโทษยุบพรรคนั้น ได้เชิญนายสมพล พรผล ผอ.สำนักกิจการพรรคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายเจษฎ์ โทณะวณิก เป็นนักวิชาการทางกฎหมายและอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เข้าให้ข้อมูล ขณะที่ในส่วนของผู้ร้องไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มการประชุมทางกมธ.แต่ละคนได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกมธ.ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลถึงอำนาจหน้าที่ของกมธ.การกฎหมายฯ ว่ามีอำนาจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวหรือไม่ โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกกมธ.การกฎหมายฯ กล่าวว่า เราควรพิจารณาก่อนว่าเรามีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคการเมือง และตนไม่อยากเห็นการใช้กมธ.ในลักษณะการสร้างกระบวนการที่นำไปสู่การยุบพรรคการเมือง อีกทั้งกมธ.มีเรื่องร้องเรียนต่างๆมากมาย ทำไมเราไม่นำมาพิจารณาก่อน หน้าที่ของกมธ.คือการตรวจสอบรัฐบาลและฝ่ายบริหารมากกว่า ถ้าเรามุ่งสู่การพิจารณาเรื่องนี้ต่อไปสุดท้ายแล้วเราจะได้อะไร รวมถึงวันนี้ผู้ร้องเรียนไม่มาร่วมประชุม และยังไม่ได้เนื้อหารายละเอียดที่ครบถ้วนจากทางกกต. ซึ่งยังไม่ได้รับการประเมินอย่างรอบด้าน จึงขอให้ทุกคนช่วยพิจารณากันก่อนด้วย
ทั้งนี้นายสิระพยายามชี้แจงในที่ประชุมว่า การนำเรื่องนี้มาพิจารณาเราไม่ได้ชี้ว่าถูกหรือผิด แต่เป็นการศึกษาอำนาจตามรัฐธรรมนูญ