ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 16.00 น วันที่ 4 พ.ย.2564 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ได้เผยแพร่รายการ “คุยกับลุง” EP 4 ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว “ Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)” เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่า วันนี้ไม่ได้มาชวนพี่น้องประชาชนให้วิพากษ์วิจารณ์คนที่เสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่ต้องการทำความเข้าใจว่า ม.112 มีเนื้อหาสาระอย่างไร วัตถุประสงค์ที่ตรากฎหมายฉบับนี้ เพื่ออะไร กฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี เนื้อหาสาระมีแค่นี้ เพราะฉะนั้นยังไม่รู้ว่าเขาจะแก้ตรงไหน หรือเขาจะเขียนขึ้นใหม่อย่างไร เราถึงต้องติดตามดูกันตอนหลัง
นายสุเทพ กล่าวว่า เราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุข ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก มาจนถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บัญญัติว่า ประเทศไทย มีรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นราชอาณาจักร เพราะเป็นอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดิน บัญญัติไว้ในหมวดที่ 1 บททั่วไปแห่ง รัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ในมาตรา 1 ว่า ประเทศไทย เป็นราชอาณาจักรอันหนึ่ง อันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้ ในมาตรา 2 ชัดเลย ที่ว่าเป็นราชอาณาจักร นั้น คือประเทศไทยมีการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข เรียกว่าราชอาณาจักร ทุกแห่งในโลก ยังมีประเทศที่ปกครองที่เป็นราชอาณาจักรมากมาย หลายสิบประเทศทั่วโลก
นายสุเทพ กล่าวว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ในรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะคือ บทบัญญัติในหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ ผมจะยกมาให้พี่น้องประชาชนได้เห็น บทบัญญัติ ในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ว่า องค์พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นที่เคารพ สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ ในทางใด ๆ มิได้ ตรงนี้เป็นเรื่องสากลที่เขาทำกันทุกประเทศ เขาจะต้องมีกฎหมาย เพื่อปกป้องประมุขของประเทศ ที่ดำรงฐานะ อยู่ในฐานะสูงสุด เป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะปกครองในระบอบ ที่มีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นประมุข หรือ จะเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐ ที่มีประธานาธิบดี เป็นประมุขก็ตาม ต้องมีกฎหมายแบบอย่างนี้ นี่ก็คือที่มาของกฎหมายอาญามาตรา 112
“เราตรากฎหมายอาญามาตรา 112 ขึ้น เพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ ไม่ให้ผู้ใดละเมิด จริง ๆ แล้ว ของเรา เราไม่ได้ปกป้องเฉพาะพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นพระประมุขของประเทศเรา เรามีกฎหมายอาญามาตรา 133 ปกป้องประมุขของรัฐอื่น ประเทศอื่นเช่นเดียวกัน ข้อความเหมือนกันเลย สาระในกฎหมายที่บัญญัติไว้ มีข้อความเหมือนกัน มาตรา 133 บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือ แสดงความอาฆาตมาดร้าย ราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางคุกจำโทษ ตั้งแต่ 1 ปี ถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 1 แสน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พี่น้องประชาชนเห็นไหม เรามีกฎหมายอาญาปกป้องทั้ง พระประมุข ที่เป็นพระมหากษัตริย์ของเรา และเราให้เกียรติ ปกป้องประมุขของประเทศอื่น และลองนึกดูว่า ถ้าเราไม่เขียนปกป้อง ประมุขของประเทศอื่นไว้ หากมีคนไทยคนไหนเครื่องร้อนขึ้นมา ไปหมิ่นประมาท ไปดูหมิ่น หรือไปแสดงความอาฆาตมาดร้าย ประมุขประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระราชาธิบดี หรือ ประธานาธิบดี ถ้าเกิดมีคนไทยทำอย่างนั้นขึ้นมา เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ประชาชนเขาก็คงไม่ยอมว่า ทำไมคนไทยถึงไปล่วงละเมิดดูหมิ่นประมุขของประเทศเขา อันนี้ก็เรียกว่า เป็นสงครามได้ เป็นเรื่องใหญ่ได้” นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า สิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญา เรื่องการ ปกป้องประมุขของประเทศจึงเป็นหลักสากล ประเทศอื่นเขาก็ทำกันทั้งนั้น พี่น้องประชาชนไปอเมริกา อยู่ดี ๆ จะไปยื่นด่าประธานาธิบดี หรือ ไปแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อประธานาธิบดีของเขา ก็จะถูกกฎหมายของเขาดำเนินการลงโทษจำคุก นี่เป็นเรื่องที่เป็นปกติสากล ดังนั้นพี่น้องประชาชนต้องติดตามว่า คนที่เขาตั้งใจจะแก้ไข ม.112 เขาคิดอะไร เขาต้องการทำอะไร เพื่อเป้าหมายอะไร มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย ที่คนไทยจะต้องมาทะเลาะกันในเรื่องนี้ แต่ว่าที่ต้องเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเมื่อก่อนมันไม่เคยมีใครคิด ที่จะไปดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ หรือ จะไปแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นคนไทย ก็เลยไม่ได้ให้ความสนใจมาตรา 112 ไม่มีใครเดือดร้อนที่มีมาตรานี้ บัญญัติเอาไว้ เพราะไม่มีคนไทยคนไหนเขาคิดทำอย่างนั้น แล้วทุกคนก็คิดว่าที่ตรากฎหมาย แบบนี้ไม่กระทบกระเทือนชีวิตความเป็นอยู่ อนาคตของใครเลย แต่วันนี้พอจะมีคนมาติดแก้ไขก็เลยต้องไปดูว่า ทำเพื่ออะไร สำคัญครับ
“ผมกังวลใจลึก ๆ ว่า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่นำไปสู่ ข้อขัดแย้งของคนในประเทศ วันนี้มี 3 ฝ่ายในประเทศ ฝ่ายหนึ่งต้องการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่ ฝ่ายที่สามไม่รู้จะคิดอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าเรื่องที่เขาคิดจะแก้ไข หรือ เรื่องที่เขาไม่ต้องการจะแก้ไข เนื้อหาสาระเป็นอย่างไร ผมถึงได้มาชวนพี่น้องประชาชนพูดคุยกันว่า เราต้องให้ความสนใจกัน วันนี้ไม่สนใจไม่ได้แล้ว” นายสุเทพ กล่าวและว่า สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือความสงบสุขของบ้านเมืองความผาสุก ของพี่น้องประชาชน เราไม่ต้องการมีความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้นในประเทศอีก และตนยืนอยู่ข้างฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเห็นว่าที่บัญญัติไว้แค่นี้ เหมาะสมถูกต้องแล้ว สำหรับประเทศไทยของเรา