นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่วัคซีนโควิดฝีมือคนไทย “ChulaCov-19 mRNA” กับ “ใบยา” ซึ่งผลิตโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใกล้ประสบความสำเร็จโดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2564 ได้มีมติอนุมัติงบประมาณในส่วนโครงการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จำนวน 2 โครงการที่เกี่ยวกับการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด -19 ที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทย
ได้แก่
1)โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ChulaCov- 19 mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีน ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ให้ความเห็นชอบ วงเงิน 2,316.8 ล้านบาท และ
2)โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันวัคซีนจากใบยา (Baiya SARS-CoV-2 VAX1) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยไทย จากบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินการผลิตและทดสอบวัคซีนทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 3 วงเงิน 1,309 ล้านบาท ทั้งนี้ รวมสองโครงการเป็นเงิน 3,625.8 ล้านบาท ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า วัคซีนทั้งสองชนิดนี้จะช่วยเสริมความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศ มีเป้าจะขึ้นทะเบียนได้ประมาณกลางปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะผลิตได้ไม่น้อยกว่า 60 ล้านโดส และเมื่อไทยสามารถพัฒนาวัคซีนและผลิตด้วยตัวเองในทุกระยะ รวมทั้งสามารถดัดแปลงและปรับวัคซีนให้ครอบคลุมเชื้อซึ่งจะกลายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ ประเทศไทยก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเชื้ออื่นๆ ได้ในอนาคต
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ความก้าวหน้านี้ เป็นผลจากการทำงานที่มุ่งมั่นตั้งใจ ของคนไทย เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้พี่น้องชาวไทย รวมทั้งยังสามารถต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนดังกล่าวไปสู่การผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นใหม่ในไทยได้อีกในอนาคต รวมทั้งทำให้ไทยมีข้อมูลการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศที่น่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวว่า รัฐบาลขอชื่นชมและสนับสนุนการผลิตวัคซีนทั้งสองโครงการอย่างเต็มที่ หวังว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะดำเนินการตามขั้นตอนให้ประสบความสำเร็จในระยะต่างๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล