วันที่ 7 พ.ย. 64 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า การประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมี นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย ขึ้นเวทีปราศรัยด้วยนั้น ทำให้สงสัยว่า นายแพทย์สุรพงษ์จะเป็นผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ ตนจึงได้ตรวจสอบพบว่า นายแพทย์สุรพงษ์ ต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีความผิดเกี่ยวกับหน้าที่ราชการ มาแล้ว 2 คดี คือ คดีหมายเลขแดงที่ อม. 91/2559 วันที่ 4 สิงหาคม 2559 ซึ่งศาลพิพากษาว่า มีความผิดตามป.อาญา ม.157 ให้จำคุก 1 ปี แต่รอการลงโทษไว้ 1 ปี และคดีหมายเลขแดงที่ อม. 107/2559 วันที่ 25 สิงหาคม 2559 ซึ่งศาลพิพากษาว่า มีความผิดตามป.อาญา ม.157 ให้จำคุก 1 ปี ซึ่งตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย ข้อ 70 หัวหน้าพรรคสามารถตั้งสมาชิกเป็นผู้อำนวยการพรรคได้ ตั้งแล้วต้องรายงานให้คณะกรรมการบริหารพรรคทราบ แต่หากสรุปตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย ข้อ 12 บุคคลที่ห้ามสมัครเป็นสมาชิก เช่น (9) บุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกและพ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปี หรือ (12) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ ดังนั้น นายแพทย์สุรพงษ์จึงน่าจะมีลักษณะต้องห้ามเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย หรือ ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย และการปรากฏตัวและปราศรัยเกี่ยวกับนโยบายของนายแพทย์สุรพงษ์ บนเวทีประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมทางการเมือง
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม เฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ได้ลงบทความของนายแพทย์สุรพงษ์ไว้ด้วย ซึ่งวันดังกล่าวก็มีการถ่ายทอดการปราศรัยบนเวทีการประชุมใหญ่ด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ชุดที่มีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ยังเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต่อมาเมื่อนายสมพงษ์ ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค และมีการเลือกนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กิจกรรมทางการเมืองหลังจากวันที่ 28 ตุลาคม จึงควรอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริการพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ แต่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน เฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ยังได้นำบทความของนายแพทย์สุรพงษ์มาลงไว้ อันทำให้เข้าใจได้ว่า นายสุรพงษ์ ยังคงเป็นผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยต่อมาจนถึงปัจจุบัน จากข้อเท็จจริงของนายแพทย์สุรพงษ์ในฐานะผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย นั้น จึงมีเหตุต้องขอให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ตรวจสอบว่า นายแพทย์สุรพงษ์เป็นผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย หรือสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ จะมีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 และ ม.29 หรือไม่ ถ้ามีการฝ่าฝืน จะถือเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคเพื่อไทย และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งชุดเดิมและชุดใหม่ตาม มาตรา 92 หรือไม่ และ กกต. ต้องดำเนินคดีอาญาตาม มาตรา 108 หรือไม่ โดย ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ เวลา 10.00.น. ตนจะไปร้องให้ กกต. ตรวจสอบกรณีดังกล่าวต่อไป