วันนี้ (8 พ.ย.64) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยจากกรณีที่มีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศไทยตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมากในขณะนี้ว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการทะลักของแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) มูลนิธิ รวมทั้งชมรมผู้ประกอบการที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว
ทั้งนี้ รัฐบาล ได้ให้ความสำคัญกรณีแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดน เนื่องจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจรองรับการเปิดประเทศ โดยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้ง ตำรวจทหาร ฝ่ายปกครอง เพิ่มความเข้มงวด เฝ้าระวัง สกัดกั้นขบวนการขนย้าย ค้าแรงงานต่างด้าวที่แอบลักลอบเข้าประเทศไทยตามแนวชายแดนโดยผิดกฎหมาย รวมถึงการเร่งหารือแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย รองรับความต้องการของภาคการผลิตและบริการไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากความสำเร็จในการเดินหน้าการเปิดประเทศเพิ่มมากขึ้นของรัฐบาล
นายสุชาติ กล่าวว่า จากแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ทำให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยแบบผิดกฎหมายได้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน
ส่วนการนำแรงงานเข้ามาเพิ่มเติมตาม MOU นั้น กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จะมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หารือถึงแนวทางการนำเข้าแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย จากนั้นจะเสนอ ศบค. ชุดใหญ่ และ ครม. ให้ความเห็นชอบเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานตามความต้องการของผู้ประกอบการ
นายสุชาติ ที่ผ่านมาได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สถานประกอบการ เพื่อสำรวจแรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบ พบว่า มีอยู่ประมาณกว่า 1 แสนราย โดยให้ผู้ประกอบการได้นำเเรงงานเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง ขณะเดียวกัน จากการสำรวจความต้องการแรงงานของไทย พบว่า ปัจจุบันมีความต้องการแรงงานทั้งไทยและต่างด้าวอยู่ที่ ประมาณ 4 แสนคน และจากการสำรวจความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการจากการ MOU คาดว่าจะมีถึง 2 แสนคน ในธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจอาหารแช่แข็ง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และได้ทำงานเชิงรุกมาโดยตลอด โดยเฉพาะการให้สิทธิคนไทยได้ทำงานก่อน หากแรงงานไม่เพียงพอก็จะนำแรงงานต่างด้าวเข้ามา ตามขั้นตอนของมติ ครม. และเป็นไปตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามที่ ศบค. กำหนด ในส่วนการทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายตามแนวชายแดนนั้น กระทรวงแรงงานได้บูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและฝ่ายความมั่นคง เพื่อเข้มงวดกวดขันในการขยายผลจับกุมขบวนการนำพาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองต่อไป
“อยากสื่อประชาสัมพันธ์ไปถึงผู้ประกอบการ แล้วก็พี่น้องแรงงานต่างด้าว อย่าเพิ่งมา เพราะช่วงนี้เราขึ้นทะเบียนเฉพาะคนที่อยู่ในสถานประกอบการเหลือเวลาแค่ 20 วัน แต่หลังจากนั้น เข้ามาก็ผิดกฎหมาย เสียเงินค่าหัวมาเป็นหมื่น สองหมื่น อยากให้สื่อไปถึงพี่น้องผู้ใช้แรงงานชายแดนว่า อย่าไปเสียเงิน เพราะหลังจากนั้นจะมีการอนุญาตนำเข้า MOU อย่างถูกต้อง แต่การ MOU ครั้งนี้จะไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา เพราะต้องหารือศบค.ซึ่งเป็นผู้ควบคุมโควิด เมื่อก่อนเราจัดการในกระทรวงแรงงาน แต่วันนี้การที่จะนำแรงงานต่างด้าวเข้ามา ต้องกักตัว 14 วัน การได้รับวัคซีน เราก็ต้องดูแลเค้าเหมือนกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วไป” รมว.แรงงาน กล่าว
ด้านนายสมพงค์ สระแก้ว ประธานมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงการใช้แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการที่แรงงานข้ามชาติ เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะทำให้เข้าถึงการคุ้มครองจากรัฐบาล ทั้งด้านสิทธิประโยชน์ การประกันสังคมและสวัสดิการต่าง ๆ ตามหลักสิทธิมนุษยชน