จากกรณีบุคคลสูญหายในเขตพื้นที่ อ.เมืองนครสวรรค์ ทราบชื่อและนามสกุลคือ นายธีรภัทร์ ธีระพงศ์ไพบูลย์ อายุ 27 ปี ลูกชายของผู้ประกอบการการขายเครื่องมือการเกษตรรายใหญ่ใน จ.สุพรรณบุรี อยู่บ้านเลขที่ 138 /1 หมู่ 2 ต.ทุ่งคลี อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ซึ่งได้ขับรถยนต์ยี่ห้อ ฟอร์ดEverest สีแดง ทะเบียน 5 กส-7216 กรุงเทพมหานคร มาหาแฟนสาว และไปร่วมงานวันเกิดเพื่อนที่ จ.นครสวรรค์
ต่อมานายธีรภัทร์ ได้โทรศัพท์แจ้งมารดาว่า ขับรถยนต์ตกน้ำ และหลังจากนั้นสัญญาณโทรศัพท์ของนายธีรภัทร์ ได้ขาดหายไปไม่สามารถติดต่อได้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 พ.ย.เวลาประมาณ 23.00 น. บริเวณใต้สะพานเลี่ยงเมืองข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ 1 ต.ตะเคียนเลื่อน อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ เบื้องต้น กู้ภัยนครสวรรค์ หน่วยกู้ภัยมูลนิธิเสมอกันสุพรรณบุรี นักประดาน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันค้นหา จนช่วงเช้าวันที่ 8 พ.ย. ทีมปฏิบัติการค้นหาคนหายและกู้ภัยร่วมกตัญญู แจ้งว่า พบร่างผู้เสียชีวิตลอยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาห่างจุดเกิดเหตุประมาณ 18-20 กิโลเมตร ตรวจสอบเอกสารที่ติดตัวผู้เสียชีวิต ระบุชื่อนายธีรภัทร์ ธีระพงษ์ไพบูลย์ ซึ่งตรงกับชื่อของผู้สูญหาย ต่อมามีการนำแท่งกั้นแบริเออร์มาวางในจุดที่รถตกน้ำ เผยไม่ใช่ทางสาธารณะ แต่เปิดไว้ให้ช่างเข้าไปซ่อมบำรุงเสาไฟฟ้าแรงสูงที่พาดข้ามแม่น้ำ คนที่มาจากที่อื่นจะไม่รู้
ล่าสุดวันที่ 9 พ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวท็อปนิวส์ได้โทรไปสอบถาม ทนายรณณรงค์ แก้วเพชร ถึงกรณีดังกล่าวว่าสามารถเอาผิดหรือฟ้องร้องอะไรใครได้บ้าง จากเหตุการณ์ดังกล่าว โดย ทนายรณณรงค์ แก้วเพชร ระบุว่าจากเหตุการณ์นี้ต้องดูว่าหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเส้นทางดังกล่าว เช่นกรมทางหลวง เทศบาล หรือกรมทางชนบท ซึ่งในการก่อสร้างได้ใช้ความระมัดระวังตามหลักวิศวกรรมหรือไม่ จากนั้นต้องไปดูการก่อสร้างแนวยูเทรินใต้สะพาน สภาวิศวมีมาตรฐานในการสร้างอย่างไร ถ้าไม่มีต้องไปดูที่ต่างประเทศว่ามีการวางหลักเกณฑ์อย่างไร ประเด็นคือต้องมีแท่งแบริเออร์ปิดกั้นหรือมีสัญญาณไฟชี้ชัด ต้องสว่างเพียงพอ และปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐละเลย ละเว้น ตามมาตราฐานความปลอดภัยก็จะถือได้ว่าหน่วยงานราชการประมาททำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย ทางญาติสามารถฟ้องร้องผู้รับผิดชอบจุดยูเทรินนั้นได้ ส่วนในกรณีถ้ามีการปิดกั้นอยู่แล้วแต่มีคนไปยกออก อาจจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้บางส่วน
ส่วนใหญ่แล้วกรณีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่างการก่อสร้างเมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้าง ก็จะเป็นหน่วยงานและผู้รับเหมาร่วมกันรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการสร้างถนนที่ไม่ได้มาตรฐานจนทำให้มีผู้ประสบอุบัติเหตุ ทางหน่วยงานรัฐก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ กรณีที่จ.นครสวรรค์น่าจะเป็นเคสแรกที่เกิดขึ้นแต่ไม่ได้บอกว่าไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้
เมื่อถามถึงแอพพลิเคชั่นที่ทำการผลิตตัว GPS อย่างGoogle ถ้าหากมีการคำนวณเส้นทางผิดจนทำให้มีการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ สามารถฟ้องร้องได้หรือไม่ ทนายรณณรงค์ แก้วเพชร กล่าวว่าสามารถฟ้องร้องได้ แต่อาจจะเป็นบางส่วน แต่หากดูจากความรับผิดชอบจริงๆแล้ว กรณีนี้ควรจะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมเป็นหลัก