วันนี้ (12พ.ย.) นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ท็อบนิวส์ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย 3 แกนนำคณะราษฎรมีความผิดล้มล้างสถาบัน และมีพรรคการเมืองให้การสนับสนุนว่า ก่อนอื่นจะต้องดูข้อเท็จจริงของแต่ละการกระทำ เพราะคำว่าสนับสนุนคือการกระทำก่อน หรือขณะกระทำผิดของบุคคลที่ไปกระทำความผิดแล้วเป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดนั้นสำเร็จ นั่นหมายความว่าจะต้องดูว่าพรรคการเมืองนั้น ๆ มีการสนับสนุนอย่างไรบ้าง หรือให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ชุมนุมในรูปแบบใดบ้าง ซึ่งในเรื่องนี้ทางพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเรื่องราวก่อนหน้านี้ให้ถึงที่สุด และจะต้องแสวงหาพยานหลักฐานที่จะนำไปสู่การดำเนินการกับพรรคการเมืองนั้น ๆ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการสั่งห้ามการกระทำหลังจากนี้เท่านั้น
ส่วนกรณีที่นักการเมืองของพรรคการเมืองแห่งหนึ่งยื่นเรื่องขอประกันตัวหนึ่งในแกนนำคณะราษฎร ถือว่าจะมีความผิดถึงขนาดยุบพรรคหรือไม่นั้น นายถาวร กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการยื่นคำร้องขอประกันตัวของใครก็ตาม ที่ไปประกันตัวจำเลย หรือผู้ต้องหาถือว่าไม่มีความผิด ขณะเดียวกันทางรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จับตามองว่าบุคคลเหล่านั้น หรือนักการเมืองเหล่านั้นปกปิดอะไรหรือไม่ แต่การกระทำเป็นการกระทำที่ผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย เช่นมาตรา 112 และ มาตรา 116 ชัดเจน ซึ่งสามารถที่จะทำการสืบสวนสอบสวนและนำมาดำเนินการได้ รวมทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นแนวทางให้พนักงานสอบสวนได้เข้าใจถึงกรณีดังกล่าวอย่างถ่องแท้ ในการแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลที่กระทำความผิด หรือบุคคลที่ถูกกล่าวหาที่ถูกดำเนินคดีอยู่ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะไปผูกพันให้หลาย ๆ องค์กร เชื่อและรับฟังก่อนจะวินิจฉัยคดีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นายถาวร ยังกล่าวถึงกรณีผู้ชุมนุมบางกลุ่มขู่จะออกมาเคลื่อนไหว สถานการณ์จะรุนแรงถึงขั้นนองเลือดว่า ตนมองว่าบ้านเมืองจะต้องมีขื่อมีแป และปกครองบริหารประเทศด้วยกฎหมาย ถ้าบ้านเมืองใดหรือประเทศใดไม่มีกฎหมาย บ้านเมืองนั้นก็จะล่มจม ขณะที่ต่างประเทศดำเนินการกับกลุ่มบุคคลที่มาชุมนุมในรูปแบบเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็น การตักเตือน หรือแม้กระทั่งจำคุก ดังนั้นในประเทศไทยก็ต้องกระทำเช่นเดียวกัน เพราะส่วนตัวมองว่าในขณะนี้ทางพนักงานสอบสวน หรือตำรวจ หรือฝ่ายความมั่นคง มีความใจเย็น และให้โอกาสผู้ที่กระทำความผิดอยู่กลางถนน แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือกลุ่มบุคคลเหล่านี้กลับกระทำความรุนแรง หรือแม้แต่ทำลายทรัพย์สินต่าง ๆ หรือเขียนคำหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่ง ความรุนแรงเหล่านี้ไม่ได้ลดลงเลย ตนจึงต้องการที่จะเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นมากกว่านี้ เพราะการกระทำการใด ๆ ก็แล้วแต่ จะต้องไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หรือส่วนรวม
ต่อข้อถามว่า มีสื่อตัดตอนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปเผยแพร่ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ควรจะต้องดำเนินการอย่างไร นายถาวร กล่าวว่า อันดับแรกต้องมองว่าสื่อฯมีสมาคม หรือสภาสื่อฯ จะต้องไปคุยกัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ ๆ เกี่ยวข้อง จะต้องทำการพิจารณาและตรวจสอบกรณีดังกล่าวให้ละเอียด หากพบว่ามีการกระทำผิดจะต้องดำเนินการตามกฎหมายทันที มิเช่นนั้นแล้วสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาจะถูกบิดเบือนทั้งหมด เหมือนอย่างเช่นนักวิชาการบางคน บิดเบือนพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า สถาบันกษัตริย์สามารถสั่งสถาบันตุลาการได้ ซึ่งเป็นการพูดที่มหาวิทยาลัยลอนดอน มีเอกสารและคลิปชัดเจน ตนจึงอยากให้ลองพิจารณาดูว่ากรณีดังกล่าวผิดหรือถูก ดังนั้นใครก็ตามที่พูดผิดหรือพูดต่างจากความเป็นจริง และเผยแพร่ในระบบคอมพิวเตอร์ ก็สามารถดำเนินคดีตามพรบ.คอมพิวเตอร์ได้แน่นอน
ต่อข้อถามว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก สนับสนุนการปฏิรูปสถาบัน ถือว่าเข้าข่ายประมวลกฎหมายอาญามาตรา113 และมาตรา114 หรือไม่ นายถาวร กล่าวว่า ดุลพินิจการดำเนินคดีว่าการกระทำความผิดใดเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายนั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน แต่ตนมองว่าการกระทำหรือคำพูดต่าง ๆ ของบุคคลเหล่านี้ เป็นการกระทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่นเข้าข่ายมาตรา 116 ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมานี้ทั้งสองคนได้ใช้เยาวชน หรือเด็ก ๆเป็นเครื่องมือ หรือพูดง่าย ๆ ว่าใช้เป็นสะพาน ในการข้ามไปสู่ความสำเร็จที่ต้องการ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นถือว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดที่ชัดเจนมาก
ส่วนกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมเผาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแบบจำลอง บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายถาวร กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นการกระทำที่ให้เกิดการด้อยค่า หรือทำลาย หรือเป็นการส่งสัญญาณว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้เป็นไปตามความเป็นจริงและตัวบทกฎหมาย ในทางกลับกันทางศาลรัฐธรรมนูญควรที่จะลุกขึ้นมา พิจารณาความผิด และร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับผู้บริหารและนักการเมืองหลาย ๆ คนที่หนีไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งแท้จริงแล้วทางศาลรัฐธรรมนูญควรที่จะลุกขึ้นมาดำเนินการกับกลุ่มที่กระทำการไม่เหมาะสม หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล และตนขอย้ำว่าบ้านเมืองจะต้องปกครองด้วยกฎหมาย และความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจะต้องมีเช่นเดียวกัน