แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงหลังจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเรียกร้องของนักกิจกรรมสามคนที่เป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปสถาบันระหว่างการชุมนุมเมื่อปี 2563 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดย เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า แม้คำวินิจฉัยนี้จะไม่มีบทลงโทษหรือค่าปรับ แต่มีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เป็นสัญญาณอันตรายสำหรับประชาชนชาวไทยหลายหมื่นคนที่แสดงความเห็น หรือวิจารณ์อย่างชอบธรรมต่อบุคคลสาธารณะหรือสถาบัน ทั้งโดยการแสดงความเห็นทางตรงหรือแสดงความเห็นทางออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่การดำเนินคดีข้อหาร้ายแรงต่อแกนนำทั้งสามคนและบุคคลอื่น ๆ อีกมาก โดยฐานความผิดล้มล้างการปกครองนี้มีโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษประหารชีวิต
ถ้าคำวินิจฉัยนี้มีเจตนาเพื่อทำให้ประชาชนหวาดกลัว และขัดขวางพวกเขาจากการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ผลที่ออกมาจะตรงกันข้าม ดังที่เห็นจากการติดแฮชแท็กอย่างกว้างขวาง การส่งทวิต และข้อความทางโซเชียลมีเดียมากมายทันทีหลังศาลมีคำวินิจฉัย ประชาชนชาวไทยกว่า 200,000 คนได้ลงนามในจดหมายเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย
รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อ้างอีกว่า เป็นความย้อนแย้งอย่างยิ่งที่คำวินิจฉัยนี้มีขึ้นในวันเดียวกันกับที่มีกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ UPR รอบที่สามของประเทศไทย ตามวาระขององค์การสหประชาชาติที่กรุงเจนีวา โดยในรอบก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้ปฏิเสธข้อเสนอแนะจากประเทศต่างๆ ในที่ประชุม UPR ที่เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถือเป็นสัญญาณต่อประชาคมระหว่างประเทศว่าประเทศไทยไม่มีเจตนาใดๆ ที่จะดำเนินการเพื่อให้กฎหมายนี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในแง่การคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก คำวินิจฉัยนี้ฉายเงามืดหม่นทาบทับประเทศไทยที่เริ่มเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวจากนานาชาติ นับเป็นเรื่องน่ากังขาในเจตนาของรัฐบาลไทยที่แสดงท่าทีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาพักผ่อนในประเทศ แต่กลับจำกัดและกดขี่สิทธิของคนไทยเอง