ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางวุฒิสภาได้จัดเวทีชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งเสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม “Re-solution” (รีโซลูชั่น) กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 1.35 แสนรายชื่อ ก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาว่าจะรับหลักการวาระหนึ่งหรือไม่ ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ โดยมีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา และนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้นำเสนอ
ทั้งนี้ภายหลังการชี้แจงและรับฟัง นายเสรี เปิดเผยว่า มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมากเข้าร่วมรับฟังรายละเอียดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีหลายประเด็นที่พิจารณา รวมถึงแนวโน้มของการออกเสียงของสมาชิกวุฒิสภาว่า จะไม่ให้ผ่านเนื้อหาดังกล่าว เพราะมีความย้อนแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ…. ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ที่รัฐสภาลงมติเห็นชอบไปแล้ว และเชื่อว่าการลงมติของรัฐสภาในวาระรับหลักการ ที่ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ของสองสภา จะไม่ได้รับเสียงเกินครึ่งแน่นอน เพราะขณะนี้ทราบว่าพรรคพลังประชารัฐประกาศว่าไม่รับเนื้อหา ส่วนพรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะงดออกเสียง เนื่องจากเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เสนอให้ ส.ส. มี 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนนั้นย้อนแย้งกับร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับที่รอการประกาศใช้ โดยพรรคเพื่อไทยลงมติสนับสนุน หากพรรคเพื่อไทยลงมติรับหลักการจะเกิดคำถามด้วยว่า พรรคเพื่อไทยเล่นอะไร ดังนั้นไม่ต้องจับจ้องว่าสมาชิกวุฒิสภาจะลงมติให้ถึง 1 ใน 3 หรือไม่ เพราะเสียงรับหลักการอาจไม่ถึงกึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ
นายเสรี กล่าวด้วยว่า ในวงหารือของสมาชิกวุฒิสภายังพิจารณาต่อประเด็นที่มีผู้คาดการณ์ว่า หากรัฐสภาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองรุนแรงโดยมองว่าการชุมนุมยังคงเกิดขึ้น และไม่สามารถนำประเด็นไปปลุกม็อบเพิ่มเติมได้ ส่วนตัวมองด้วยว่าการชุมนุมของประชาชนเกิดขึ้นมาก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณา และมีความรุนแรงอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นหากรัฐสภาไม่รับเนื้อหา เชื่อว่าการชุมนุมยังคงมีอยู่ในจำนวนเท่าที่มี
“ผมขอถามกลับว่า หากรัฐสภารับร่างแก้ไข ม็อบจะยุติชุมนุมเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงคือไม่ เพราะการชุมนุมเรียกร้องเป็นประเด็นอื่น ส่วนกรณีร่างแก้รัฐธรรมนูญที่เสนอมานั้น เชื่อว่าเป็นเจตนาที่จะเสนอเพื่อหาเหตุชุมนุม และตั้งใจเสนอเนื้อหาที่ไม่ต้องการให้ผ่านรัฐสภา และให้สมาชิกวุฒิสภาตกเป็นแพะรับบาป” นายเสรี กล่าว
เมื่อถามว่าผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทักท้วงว่าสมาชิกวุฒิสภา ควรฟังคำอธิบายก่อนตั้งธงคว่ำ นายเสรี กล่าวว่า สมาชิกวุฒิสภารับฟัง และนำร่างกฎหมาย เนื้อหา รวมถึงรายละเอียดพิจารณาอย่างรอบด้าน และเห็นว่าการเสนอเนื้อหาลักษณะดังกล่าวนั้น เจตนาคือไม่ต้องการให้ผ่านการพิจารณา อย่างไรก็ตามสมาชิกวุฒิสภาพร้อมจะอภิปรายในวาระก่อนรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เบื้องต้นมีสมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อขออภิปรายแล้ว 15 คน