เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภาเตรียมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งเสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนกว่า 135,000 รายชื่อในวันที่ 16 พ.ย.นี้ว่า ตนไม่แปลกใจต่อการกระทำของสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (Resolutions) เพราะร่างดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อโละระบอบประยุทธ์ ซึ่งส.ว. คือหัวใจสำคัญ แต่หาก ส.ว .มีความจริงใจที่จะคืนอำนาจให้ประชาชน ส.ว. จะต้องทำความเข้าใจว่า นี่เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน ไม่ใช่มาจากการเเต่งตั้ง แต่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ความเข้าใจของโลกยุคเก่า การตรวจสอบถ่วงดุลมันเกิดจากการที่ผู้มีที่มีความรู้ความสามารถ ที่เชี่ยวชาญได้รับการแต่งตั้งมาตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งนี่คือ ส.ว. ที่ทำหน้าที่นี้ และหลงคิดไปเองว่า ตัวเองทำเรื่องนี้ได้ดีที่สุด แต่ในโลกสมัยใหม่คนที่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ดีที่สุดคือประชาชน เมื่อประชาชนสามารถสะท้อนเสียงจากตัวเเทนของเขาได้อย่างเเท้จริง สามารถเข้าชื่อถอดถอนได้ และมีสิทธิ์ในการรับรู้ข่าวสารได้อย่างอิสระ นี่คือการตรวจสอบถ่วงดุล อย่างโปร่งใสที่แท้จริง
นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญของประชาชน ออกแบบการตรวจสอบถ่วงดุลในโลกสมัยใหม่ ก็คือให้ตัวแทนของประชาชนเป็นผู้ใช้สิทธิ์แทนในการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกแต่งตั้งมาเป็นเครื่องมือของฝ่ายรัฐประหารทำลายล้างประชาธิปไตย ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีที่มาใหม่ทั้งหมด เช่น ศาลตุลาการ มาจากสภาตุลาการ ศาลฎีกา ศาลปกครองอย่างเป็นกลางในทางการเมืองได้จริงๆ ความเป็นกลางเกิดจากการที่ตัวเเทนของทุกที่ ที่แตกต่างสามารถเป็นตัวแทนที่พอๆกัน และสามารถใช้เหตุผลในการวินิจฉัยร่วมกัน ในประเด็นต่อมาที่ส.ว. ระบุว่า ตัวเองจะทำให้การพิจารณากฎหมายนั้นรอบคอบขึ้น และตรวจสอบรัฐบาลได้ เรากำลังพูดถึงส.ว.ในอดีตในหลาย 10 ปีก่อน ในวันที่ไม่มีส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในวันที่ยังมาตรา 77 ที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นในร่างกฎหมายได้ ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตที่ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ เพราะสมัยนั้น กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลเกิดขึ้นเพียงคนไม่กี่คน แต่เมื่อคนทั้งประเทศมาออกแบบการถ่วงดุลร่วมกัน และสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เหมาะสมที่สุด
“7 ปีนี้ ไม่สามารถตรวจสอบพลเอกประยุทธ์ ไม่สามารถตรวจสอบกองทัพ และการวินิจฉัยที่ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการและไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยก็ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้เลย นี่เป็นกลไกลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่จะให้อำนาจและคืนอำนาจให้กับประชาชนในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล” นายปดิพัทธ์ กล่าว
ด้านธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนและพรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะร่างฯ นี้จะขจัดอำนาจที่เหนือกว่าประชาชน และจะแก้ไขปัญหาระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2490 ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้องค์กรต่างๆ มีอำนาจเหนือกว่าอำนาจของประชาชน ซึ่งร่างฯ นี้จะคืนอำนาจให้ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรต่างๆ ได้ และปัจจุบันการตรวจสอบถ่วงดุลในประเทศไทยยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 แล้ว ในการคัดสรรคนดี ไม่มีเบื้องหลังมานั่งในองค์กรอิสระ เพื่อตรวจสอบองค์กรต่างๆ ได้ แต่มันไม่เกิดขึ้นจริง กลายเป็นว่า องค์กรอิสระที่ตรวจสอบไม่ได้ มีที่มาจากการคัดสรรและแต่งตั้งจาก คสช. กลับมีอำนาจตรวจสอบและชี้เป็นชี้ตาย คนที่ตรวจสอบได้ ได้รับเลือกจากประชาชน เมื่อประชาชนกว่า 135,000 คนเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจประชาชนสามารถตรวจสอบได้ทั้งองค์กรอิสระ ศาล และกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายตุลาการ ที่ปัจจุบันยังไม่เคยได้รับการตรวจสอบจากรัฐสภาที่มาจากประชาชน ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจึงสำคัญมากในการทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ปรับให้เป็นประชาธิปไตยสากล ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ
นายธีรัจชัย กล่าวอีกว่า ตนเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ทั้งพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และส.ว. ไม่ปัดตกร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อให้การปกครองของประเทศนี้อยู่กับร่องกับรอย และพรรคก้าวไกลจะสนับสนุนร่างฯ นี้อย่างเต็มที่ และขอให้ประชาชนตั้งใจฟังอภิปรายทุกคำ เพื่อดูว่าใครยืนข้างไหน ยืนข้างประชาชนหรือยืนข้างใคร