วันที่ 17 พ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เดินทางลงพื้นที่ จ.ชุมพร เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย พร้อมมอบถุงยังชีพจำนวน 2,000 ชุดให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่โรงเรียนอนุบาลสวี ต.นาโพธิ์ อ.สวี จากนั้นจึงเดินทางไปยังศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ที่ ต.หนองไทร อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวรายงานเรื่องโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขณะนี้ภาคใต้ของประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ทำให้มีฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่หลายจังหวัด ซึ่ง จ.ชุมพร เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย โดยเฉพาะที่ อ.หลังสวน อ.สวี อ.ท่าแซะ อ.ทุ่งตะโก และ อ.เมือง ทั้งนี้รัฐบาลมีความห่วงใยและตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบภัย จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดบูรณาการความร่วมมือให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งเร่งฟื้นฟูเยียวยาให้กับผู้ได้รับกระทบตามเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ที่กำหนดเอาไว้ นอกจากนี้ยังเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบ พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย
ขณะนี้ภาคใต้ยังคงมีพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำ เพราะยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ภาคใต้ มีปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มสูงขึ้นหลายแห่ง จึงมีความเสี่ยงที่น้ำจะล้นตลิ่งซึ่งจะส่งกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสูงสุดในการรับมือกับสถานการณ์ จึงแต่งตั้งคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ และจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ขึ้นที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้ติดตาม ประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ และบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2564 เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการเข้าคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว
ด้าน เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงาน ซึ่งจะช่วยกันบูรณาการความร่วมมือเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อวิเคราะห์สภาพอากาศ รวมทั้งปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ และพื้นที่น้ำหลาก ก่อนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าดำเนินการแก้ไขสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนที่ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด