“ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก” สำหรับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส Thai PBS สถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย(ส.ส.ท.)
นอกจากออกแถลงการณ์ขอโทษ จากการนำเสนอข่าวผิดพลาดถึงสามครั้งภายในหนึ่งเดือน จนนายชัยวุฒิ ธนาคมา นุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ส่งผู้แทนกระทรวงเข้าแจ้งความดำเนินคดีความผิดตามพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน และ คดีความผิดพ.ร.บ.คอมพ์ฯ
ความควายเข้ามาแทรก เมื่อคณะกรรมการนโยบายส.ส.ท. มีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธาน ลงมติเอกฉันท์ เลือก รศ.ดร.วิลาสิณี พิพิธกุล หรือ “อาจารย์ปุย” เป็นผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย( ไทยพีบีเอส ) ถือว่านั่งเก้าอี้ผอ.ไทยพีบีเอส สองสมัยซ้อน
แม้การเลือกผอ.สถานีไทยพีบีเอส ได้รับตราประทับรับรองจากนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการนโยบายฯว่าผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการสรรหาฯที่มี นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เป็นประธาน อย่างโปร่งใส เป็นธรรมแล้วก็ตาม
แต่หากส่องกล้องเข้าไปดูใส้ในการเสนอชื่อผู้สมัคร พบเงื่อนงำชวนสงสัย
เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายฯที่มีนายเจิมศักดิ์ เป็นประธาน แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ โดยมีนายชวรงค์ เป็นประธาน ขณะนั้นมีผู้สมัครจำนวน 6 คน ต่อมาถอนตัวไปหนึ่งราย คณะกรรมการรสรรหาเสนอชื่อผู้ผ่านรอบแรกจำนวน 5 คน จากนั้นได้เปิดให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ โดยคณะกรรมการสรรหา ตั้งเกณฑ์การให้คะแนนต้องไม่ต่ำกว่า 60 คะแนน โดยเสนอชื่อผู้สอบผ่านเกณฑ์ไปให้คณะกรรมการนโยบายพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย
ปรากฎว่า มีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวน 2 รายเท่านั้น คือ ร.ศ.ดร.วิลาสิณี ที่เคยนั่งเก้าอี้รองผอ.ไทยพีบีเอสและผอ.ไทยพีบีเอส มาก่อน และ ผช.ศาสตราจารย์มนพ กาญจนบุรางกูร ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา
หากพิจารณาจากการเสนอชื่อเข้ามารอบสุดท้ายสองราย โดยเปรียบเทียบจากตำแหน่งและประสบการณ์ทำงาน พอจะเห็นเค้าลางการยึดกุมเก้าอี้ผอ.ไทยพีบีเอสบ้างแล้วว่าใครจะเข้าวิน!
ร.ศ.ดร.วิลาสิณี ถือว่าคลุกคลีอยู่ในไทยพีบีเอสมาตั้งแต่ปี 2559 ในยุคที่มีทพ.กฤษฏา เรืองอารีรัชต์ ผู้จัดการส.ส.ส.ขณะนั้นข้ามห้วยมาเป็นผอ. ส.ส.ท. พร้อมกับเกี่ยวก้อย อจ.ปุย ซึ่งเคยเป็นผอ.อาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาเป็นรองผอ.ส.ส.ท.
หากจำไม่ผิดชื่อของคุณหมอกฤษฏา เคยปรากฎเป็นข่าว ในการนำไทยพีบีเอสเข้าไปซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ จนตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในที่สุด หมอกฤษฏีกาขอลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่อจ.ปุย อำลาตำแหน่งรองผอ.ส.ส.ท.ไปด้วย เพื่อยุติข้อครหา (มาด้วยกันไปด้วยกัน )
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2560 รศ.ดร.วิลาสิณี กลับมาสมัครชิงตำแหน่งผอ.ส.ส.ท.อีกครั้ง จะด้วยมีพลังงานบางอย่างที่ยังปกคลุมอยู่ในไทยพีบีเอสหรือไม่ ทำให้ รศ.ดร.วิลาสิณี ผงาดขึ้นมาเป็นผอ.ไทยพีบีเอส ขณะนั้น
นั่นคือเส้นทางแห่งความอึมครึมสู่ตำแหน่ง ผอ.ส.ส.ท.ในอดีต
สำหรับปัจจุบันตามที่เห็นและเป็นอยู่ การเข้ามาทำหน้าที่ของผอ.วิลาสิณี อยู่ในช่วงของการบริหารสถานีท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่ากำลังชักพาสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งนี้ไปในทิศทางอย่างที่ไม่ควรเป็น ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ชวนให้ผู้ชมมีเครื่องหมายคำถามหลังปิดจอทีวีเสมอ เป็นสื่อล้มเจ้าบ้าง สื่อล้มรัฐบาลบ้าง
รศ.ดร.วิลาสิณี ยังเป็นผู้บริหารสถานี ในจังหวะที่การนำเสนอข่าวสารของไทยพีบีเอสผิดพลาดคลาดเคลื่อนจนต้องออกแถลงการณ์ขอโทษขอโพยสังคมถึงสามครั้งสามครา โดยมีเสียงเรียกร้องจากสังคมไปถึงระดับผู้อำนวยการสถานีจะไม่แสดงความรับผิดชอบอะไรเลยหรือ
…ทว่าไม่มีสัญญาณตอบรับจากผอ.วิลาสิณี นอกจากออกใบแถลงการณ์สามแผ่น พร้อมกับใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหวเพื่อรอฟังคณะกรรมการการนโยบายลงมติให้กลับมาเป็นผอ.ไทยพีบีเอส อีกครั้ง ….
ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวต่อสายตาภายนอกที่จับตามองการทำงานในตำแหน่งผอ.ส.ส.ท.มาตลอดสี่ปีที่อยู่ในภาวะสาละวันเตี้ยลง
จึงไม่แปลกที่มีเสียงร้องดังขึ้นเรื่อยๆ ถ้ายังอยู่ในสภาพนี้ สมควรยุบสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ไปเลยดีหรือไม่ เพราะจากการบริหารภายใต้งบประมาณปีละ 2,800 ล้านบาท ดูจะเป็นการใช้จ่ายเงินอย่างไม่คุ้มค่าภาษีประชาชน เป็นสถานีโทรทัศน์เต็มไปด้วยดินแดนสนธยา
อย่างที่กล่าวถึงกระบวนการได้มาซึ่งผอ.สถานีไทยพีบีเอส ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ต่อข้อกล่าวอ้าง ดำเนินการคัดเลือกอย่างถูกต้องโปร่งใส เป็นธรรม จึงเสนอชื่อบุคคลซึ่งเคยยึดกุมไทยพีบีเอสมาก่อนกับผอ.องค์กรสะพานปลา เข้าประกวดรอบสุดท้าย
ถ้าให้เซียนมวยนำสองรายนี้มาเทียบชั้นเชิง มองออกตั้งแต่ไม่ขึ้นชกแล้วหล่ะว่า” ใครเป็นผู้ชนะ”
คุ้ยกันให้ลึกลงไปอีก กระบวนการต้นน้ำในการส่งชื่อขึ้นมาชิงตำแหน่งผอ.ไทยพีบีเอส ครั้งนี้ส่งกลิ่นโชยบางอย่าง ทั้งมีเรื่องร้องเรียนหึ่งไปถึงระดับผู้บริหาร มีหรือที่คณะกรรมการนโยบายสถานีจะไม่รู้ และสมควรออกมาชี้แจง
เพราะนี่คือ องค์กรสื่อสาธารณะของประชาชน มิใช่ ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง