วันนี้ ( 22 พ.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณีที่มีกระแสคัดค้านแผนจะยุติการเดินรถเข้าออกสถานีหัวลำโพง หรือสถานีกรุงเทพ หลังการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ ว่า ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ได้ตั้งบริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้ามาจัดทำแผนการพัฒนาและบริหารสินทรัพย์หรือที่ดิน ของ รฟท .เพื่อหารายได้เพิ่มและแก้ปัญหาขาดทุน ด้วยการนำที่ดินออกมาพัฒนาเชิงพาณิชย์
ปัจจุบันรฟท.มีภาระการบริหารงานขาดทุนต่อเนื่องสะสมมานาน โดยมียอดขาดทุนอยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท แต่หากคิดรวมจำนวนหนี้ที่ไม่ได้ลงบัญชีพบว่ามีผลขาดทุนมากถึง 6 แสนล้านบาท เป็นโจทย์ใหญ่ที่ รฟท.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจะต้องเร่งแก้ไข
ทั้งนี้ ทางด้านของ บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ฯ ได้มีการนำเอาสินทรัพย์ของการรถไฟมาพิจารณา และพบว่าการรถไฟ มีที่ดินหลายแปลงที่เป็นแปลงจนาดใหญ่ สามารถสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟ อาทิ สถานีธนบุรี ซึ่งอาจจะร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช ในการพัฒนาที่ดิน //ที่ดินบริเวณอาร์ซีเอ ที่ดินบริเวณสถานีแม่น้ำ ซึ่ง จากการคาดการณ์ของ บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ฯ เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับ รฟท. ได้มากถึง 8 แสนล้านบาท ภายใน 30 ปี
ส่วนกรณีที่หลายภาคส่วนกลัวว่า หากยุติการเดินรถเข้าหัวลำโพงจะกระทบการเดินทางของประชาชนกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งหามาตรการเพื่อแก้ปัญหา โดยการสร้างระบบเทดเดอร์ มารองรับ โดยจะนำรถ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เข้ามาให้บริการเส้นทาง หัวลำโพง-บางซื่อ และประสานให้เอกชนเจ้าของสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงิน หามาตรการซึ่งเป็นทางเลือกการเดินทางให้กับประชาชนได้ใช้บริการ
ส่วนเรื่องจะหยุดเดินรถเข้าหัวลำโพงนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมคุยเรื่องนี้กันมานานแล้วว่า ต้องการให้บางซื่อเป็นศูนย์กลางระบบรางทั้งหมด เมื่อสถานีกลางบางซื่อสร้างเสร็จ ก็ต้องทยอยลดการเดินรถโดยสารที่หัวลำโพง ซึ่งตามแผนระยะแรกจะลดลงให้เหลือ 22 ขบวนจากเดิม 118 ขบวน เพื่อไม่ให้กรุงเทพมีปัญหารถติด ส่วนขบวนรถขนส่งสินค้า ก็มีแผนให้มาใช้ที่สถานีเชียงรากน้อยแทน จะได้ไม่ต้องนำรถขนาดใหญ่ เข้ามาขนสินค้าในเมือง
ทั้งนี้ ในการหาข้อสรุป จะต้องมีการเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ของการหยุดเดินรถที่หัวลำโพง รวมทั้ง นำความเห็นของประชาชนมาประเมินด้วยว่าแนวทางไหนให้ประโยชน์สูงสุด และจะดูแลคนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร หากในการหารือ สามารถตอบคำถามประชาชนได้ทั้งหมดก็จะเดินหน้าหยุดการเดินรถที่หัวลำโพง แต่หากตอบคำถามได้ไม่หมด ทำแล้วกระทบ ก็อาจจะมีการทบทวนการหยุดเดินรถ
นายศักดิ์สยาม ระบุว่า อย่าเพิ่งดราม่ากัน เพราะต้องมาดูอีกทีว่าการคงขบวนเดินรถไว้จะกระทบการจราจรในเมืองหรือไม่ หรือ อาจจะต้องมีการปรับเวลา แต่ยืนยันว่าการเปิดหัวลำโพงเพื่อเดินรถต่อมีภาระต้นทุนการบริหารงานซึ่งจะต้องประเมินผลกระทบ ผมกล้าตัดสินใจอยู่แล้ว ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ ก็ไม่ว่าอะไร ผมอยากให้ การรถไฟ ตอบประชาชนว่าจะประกอบธุรกิจอย่างไร
ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการ และการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อครั้งที่ 7/2564 ซึ่งมีการรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือ
มีรายงานข่าวในการประชุม นายศักดิ์สยาม ได้มีข้อสั่งการในประเด็นการให้บริการเดินรถเข้าสู่สถานีหัวลำโพง โดยให้ รฟท. ทบทวนข้อมูลแผนการเดินรถให้รอบด้าน และพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งมิติการบริหารจราจร และมิติการให้บริการประชาชน โดยพิจารณาการปรับรูปแบบ และจำนวนรถไฟให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รวมถึงความเป็นไปได้ในการปรับให้ขบวนรถไฟวิ่งนอกชั่วโมงเร่งด่วน เป็นต้น
พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเวทีสาธารณะชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน และจัดทำข้อมูลให้ชัดเจนในประเด็นนี้ เพื่อหาข้อยุติและแก้ปัญหาให้ได้ทุกมิติ รวมถึงมาตรการเยียวยาต่าง ๆ และการให้ข้อมูลด้านการพัฒนาหัวลำโพงให้เห็นภาพรวมทุกประเด็น ทั้งการอนุรักษ์อาคาร และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ รวมถึงการบริหารสถานีกลางบางซื่อ โดยให้พิจารณาข้อมูลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเน้นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม