จากกรณีแรงงานเพื่อนบ้านทั้งชาวเมียนมา และชาวกัมพูชา จำนวนมาก ยอมจ่ายเงินหัวละ 2-3 หมื่นบาทให้กับผู้นำพาเข้าประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย แล้วลักลอบเดินเท้าโดยใช้เส้นทางธรรมชาติเข้ามาตามชายแดนของประเทศไทย ก่อนถูกเจ้าหน้าของไทยจับกุมรายวันนั้น จนมีการการตั้งคำถามว่า หลังจับแรงงานเพื่อนบ้านที่ลักลอบเข้าไทยแล้วส่งตัวไปที่ใด และจะดำเนินการผลักดันกลับประเทศต้นทางด้วยวิธีใด เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.อ.เฉลิมชัย ชัดใจ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กองพลทหารราบที่ 9 จ.กาญจนบุรี ให้ข้อมูลว่า เมื่อจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้ตามแนวชายแดน จ.กาญจนบุรี พร้อมผู้นำพา จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 ทันที โดยหากพบว่ามีแรงงานผิดกฎหมายติดเชื้อก็จะส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสนามเฉพาะที่จัดเตรียมเอาไว้ แต่ถ้าตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 เจ้าหน้าที่ก็จะส่งตัวผู้นำพา พร้อมแรงงานทั้งหมดไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่สอบปากคำก่อนดำเนินคดีไปตามกฎหมาย
พ.อ.เฉลิมชัย ระบุอีกว่า หลังจากแรงงานต่างด้าวทั้งหมดถูกแจ้งความดำเนินคดี จะถูกส่งตัวไปยังสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร หรือ OQ ที่กระจายตั้งอยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อกักตัวเฝ้าระวังไวรัสโควิด-19 เป็นเวลา 14 วัน เมื่อครบกำหนดหากไม่พบว่ามีการติดเชื้อ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเข้าตรวจคัดกรองเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง นำตัวแรงงานทั้งหมดไปคัดแยกว่าคนใดมีภูมิลำเนาอยู่ใกล้กับจังหวัดชายแดนของไทยก็จะให้ไปรวมกลุ่มกัน ก่อนประสานเจ้าหน้าที่จากประเทศเพื่อนบ้านให้มารับตัวแรงงานที่หลบหนีเข้าไทยที่จุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุด
ด้าน พ.ต.อ.จักษ์ ยังให้ผล ผกก.ตม.จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยขั้นตอนการผลักต่างด้าวลักลอบเข้าไทยแบบผิดกฎหมาย ว่า ในส่วนของการผลักดันมีทั้งหมด 4 ช่องทาง คือ ด่านแม่สอด ด่านเชียงราย ด่านระนอง และด่านเจดีย์ 3 องค์ ซึ่งแต่ละจุดจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน อาทิ ด่านระนอง เค้าจะโฟกัสไปที่ชาวเมียนมา ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่เกาะสอง หรือเมืองมะลิด และทวาย ส่วนการผลักดันแรงงานผ่านด่านแม่สอด ก็จะมีโควต้าการผลักดันตามที่ จ.กาญจนบุรี แจ้งไว้ พอถึงคิวของ จ.กาญจนบุรี ทางด่านแม่สอด ก็จะแจ้งมาว่า จ.กาญจนบุรี สามารถส่งแรงานต่างด้าวไปที่ ด่านแม่สอด ได้จำนวนกี่คน อาทิ 30 คน หรือ 40 คน จากนั้น ตม.กาญจนบุรี ก็จะส่งตัวแรงงานไปที่ด่านแม่สอด พร้อมยืนยันว่าไม่สามารถผลักดันแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ถูกจับกุมกลับประเทศต้นทางได้ทั้งหมด เพราะการผลักดันขึ้นอยู่กับทางการของประเทศเพื่อนบ้านด้วย ว่าจะมีโควต้ารับกลับกี่คน จึงกลายเป็นปัญหาเรื่องชาวเมียนมา หลบหนีเข้าไทยตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก
ส่วนคำถามที่ว่าประเทศไทย ดำเนินคดีกับแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าไทยด้วยข้อหาอะไรนั้น เพราะเห็นว่าหลังถูกจับกุมก็จะถูกผลักดันกลับทันที พ.ต.อ.จักษ์ ระบุว่า ในความเป็นจริง ประเทศไทย ไม่ได้ไปลงโทษแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง นอกจากจะกระทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือกฎหมายอื่นของไทย เพราะข้อกฎหมายเรื่องการหลบหนีเข้าเมืองนั้น เจ้าหน้าที่ไทยไม่ได้ดำเนินคดีอะไรกับแรงงานต่างด้าว ทำแค่เพียงผลักดันให้กลับประเทศต้นทางเท่านั้น