เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอในหัวข้อ “ยุ่งแล้ว สหประชาชาติขีดเส้น 2 เดือน แก้ไข ม.112” ผ่านช่องยูทูบช่องหนึ่ง เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2564 นั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าวแล้ว และชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 หน่วยราชการไทยที่ประกอบด้วยผู้แทนจากคณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา และหน่วยราชการ 13 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำเสนอรายงานสิทธิมนุษยชนของไทยต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ภายใต้กระบวนการทบทวนรายงานสิทธิมนุษยชนตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 3 ซึ่งเป็นกระบวนการปกติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการรับฟังข้อคิดเห็นจากประเทศต่างๆ ซึ่งกลไกนี้ไม่มีการบังคับ และยูเอ็นไม่ได้เป็นองค์การที่บังคับหรือขีดเส้นตายกำหนดเวลาให้ประเทศสมาชิกต้องตอบรับข้อเสนอแนะหรือต้องไปแก้ไขกฎหมาย
นายธานี กล่าวอีกว่า ในการรายงานสิทธิมนุษยชนของไทยครั้งนี้ ไทยได้รับคำชมในพัฒนาการหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า การลดความเหลื่อมล้ำ และการดูแลกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งการส่งเสริมเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน ไทยได้รับข้อเสนอแนะกว่า 270 ข้อ จาก 106 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มี 11 ประเทศที่เสนอแนะให้ไทยทบทวนการบังคับใช้ หรือพิจารณาปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งนี้ ตามแนวปฏิบัติของกระบวนการ ทุกประเทศสามารถนำข้อเสนอแนะไปหารือกับหน่วยงานผู้ปฏิบัติ และแจ้งยูเอ็นภายใน 90 วัน หลังการเสนอรายงานว่าจะตอบรับข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปฏิบัติ หรือจะรับทราบ
นายธานี กล่าวว่า คณะผู้แทนไทยได้แจ้งตอบรับข้อเสนอแนะกว่าครึ่งที่ได้รับ ซึ่งรวมถึงข้อเสนอแนะในด้านต่างๆ อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การปราบปรามการค้ามนุษย์ การแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ส่วนข้อเสนอแนะบางเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน หรือจำเป็นต้องพิจารณาและหารือเพิ่มเติมอย่างรอบคอบ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะนำมาพิจารณาต่อไป ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลในคลิปวิดีโอดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์คลิปวิดีโอนี้ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์กระทรวงฯ www.mfa.go.th หรือหมายเลขโทรศัพท์ 0-2203-5000