สถานการณ์ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพลานี้ เต็มไปด้วยความอลหม่าน หลังจากนำเสนอข่าวสารผิดพลาดอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) มอบหมายผู้แทนกระทรวงไปแจ้งความดำเนินคดีความผิดพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ
ซ้ำร้าย การแต่งตั้งผู้อำนวยสถานีที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปสดๆร้อนๆ เกิดข้อครหาถึงกระบวนการสรรหาผิดปกติ ทั้งการไม่เปิดโอกาสให้พนักงานหรือคนภายนอกได้รับฟังวิสัยทัศน์ผู้สมัคร ทั้งการเแต่งตั้ง “คนเก่าหน้าเดิม” ซึ่งในสุดเป็นไปตามคาด หวยล็อคออกมาเป็น รศ.ดร.วิลาสิณี พิพิธกุล กลับมาเป็นผอ.สถานีอีกรอบ
กระแสเสียงเรียกร้องจากสังคมเริ่มออกมาเขย่าจอไทยพีบีเอสมากขึ้น ถึงขนาดโพสต์ข้อความตั้งคำถาม ” สมควรยุบทิ้งหรือไม่ ” เพราะสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งนี้ อยู่ได้ด้วยเม็ดเงินภาษีประชาชนกว่า 2,800 ล้านบาท แต่เมื่อใช้งบอย่างไม่คุ้มค่า ไร้คุณภาพ ก็ควรปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่านี้
หนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งผอ.สถานีไทยพีบีเอส “นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที” อดีตสื่อมวลชนอาวุโสผ่านร้อนผ่านหนาวในสมรภูมิข่าวมาหลายสนามได้เคยยื่นหนังสือร้องเรียนไปถึง นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ และ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการนโยบายฯ ถึงกระบวนการที่ไม่โปร่งใส เป็นธรรม แต่ทว่า ไม่มีสัญญาณตอบรับจากคนเหล่านี้
ล่าสุด นายยุทธิยง ได้ถ่ายทอดมุมมองต่อสถานีไทยพีเอส อีกครั้ง โดยระบุว่า
ผมสัญญาไว้กับสื่อว่าขออนุญาตที่จะไม่ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ อยากให้เอาเนื้อหาและความคิดถ้อยคำที่ออกจากใจและปัญญาเล็กน้อยและความปรารถนาดีของผมที่พึงมีเผยแพร่จะเป็นประโยชน์แก่วงการสื่อมวลชนและปัญญาของสังคมน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าการจะให้สัมภาษณ์
ผมเรียกความมุ่งหวังนี้ว่า “ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนองค์กร TPBS ด้วยธงห้าผืน” เพื่อยกระดับความรู้สติปัญญาสาธารณะให้ก่อเกิดปัญญาสาธารณะอย่างมีพลัง
ธงผืนแรก คือการทำให้ทีวีสาธารณะเป็นทีวีสาธารณะที่กว้างแก่คนทุกกลุ่มในสังคม เป็นทีวีของ NGO เป็นทีวีของนักวิชาการเป็นทีวีของนักธุรกิจ กรรมกร ข้าราชการ ธนาคาร อุตสาหกรรม ชุมชน ชาวบ้านและสถาบันฯ เพื่อให้การรับรู้ข่าวสารเรื่องราวครอบคลุมก่อให้เกิดพลังเพื่อหล่อเลี้ยงอาหารสมองปัญญาสร้างสรรค์อยู่เสมอแก่คนในบ้านเมือง
ธงผืนที่สองกำหนดประเด็นสาธารณะให้มีพลังสู่พลังสาธารณะเช่นความยากจน ความยุติธรรมต้นทุนแพง อาหารไร้คุณภาพ เพื่อหล่อหลอมทุกกองบรรณาธิการทุกโต๊ะข่าวให้ร่วมกันคิดประเด็นเหล่านั้น สร้าง Content เผยแพร่เพื่อยกระดับให้ระดับนโยบายของชาติไปแก้ไขต่อไป
ธงผืนที่สาม ที่ไหนมีข่าวที่นั่นมีเรา ทุกเหตุการณ์เราจะฝึกคนน้องๆในกองบรรณาธิการให้มีทักษะการรายงานข่าวอย่างมีดุลยภาพทางปัญญาที่รัดกุม สิ่งไหนหมิ่นเหม่ต่อหลักกฏหมายก็ต้องบอกแก่สาธารณชนว่าสิ่งนี้ให้รัดกุม ดำรงตนเป็นที่เชื่อถือ สง่างามในดุลยภาพแห่งชีวิตสื่อมวลชนที่เข้าไปทำงานได้ทุกกลุ่มคนทุกสีทุกฝ่ายทุกกลุ่มคนในชาติ
ธงผืนที่สี่ ปรับองค์กรให้มีวัฒนธรรมธรรม Agile Organization คล่องตัวยืดหยุ่นสร้างบรรยากาศการสื่อสารที่ใกล้ชิดหลอมทุกกองบรรณาธิการให้มีจิตเป็นหนึ่งเดียว ข้ามเส้นแบ่งแบบระบราชการไปบ้างด้วยใจอันสุจริต ด้วยใจที่ทำงานให้สาธารณชน
ธงผืนที่ห้า สร้างสรรค์ออกแบบย่อยเนื้อหา Content ซึ่งเป็นทุนที่มีอยู่แล้ว ปรับตกแต่งย่อยเนื้อหาให้กระชับใส่เข้าสู่ สังคมDigital ย่อยเนื้อหายกระดับให้เป็นสำนักข่าวชาติ เหมือนกับสำนักข่าวไทยเพื่อสถาปนาข้อมูลข่าวสารเป็นฐานข้อมูลที่ถูกต้องแก่คนในสังคมไทย
วิสัยทัศน์เหล่านี้ของผู้สมัครต้องผ่าน”กรรมการสรรหาก่อนไปสู่กรรมการนโยบาย”
คำถามมีมาโดยตลอดจากนักกฏหมายมาหลายปีว่า “อำนาจอันจำกัดที่มีตัวแทนสื่อคนหนึ่งนั่งเป็นประธาน เมื่อมีการท้วงติงจากนักปราชญ์ผู้ปรารถนาดีมาเป็นเวลานาน ประจวบกับสื่อมวลชนลงข่าวหลายปีถึงกรรมการผู้ทำหน้าที่จะต้องงดงามไร้มลทินแห่งความมัวหมอง สิ่งเหล่านี้ถึงเกิดซ้ำจนนำไปสู่การขุดคุ้ย ด้วยมีความปรารถดีต่อการยกระดับความภาคภูมิใจในวิชาชีพที่ต้องที”สำนึกที่เคร่งครัด“
ผมเองถือเป็นบุคลากรทำงานสื่อพอจะมีสติปัญญาไม่มากนัก ก็จึงนำธงห้าผืนนี้เผยแพร่แก่สาธารณชน หากมีประโยชน์ก็ไม่หวงแหนทางลิขสิทธิ์ใดๆ และภูมิใจที่การทำงานอันหนักแม้ไม่ถึงกรรมการนโยบาย ได้เผยแพร่เป็นปัญญาความรู้ มุ่งถึงว่าก่อเกิดกุศลในสังคมไม่มากก็น้อย
ขอบคุณอีกครั้งกับผู้ปรารถนาดีต่อแผ่นดินและสังคมเพื่อกระยกระดับ คุณภาพการทำงานด้านสื่อและปัญญาให้สังคมไทย
*หมายเหตุ ภาพกราฟฟิกบางภาพที่เผยแพร่บางภาพมิได้วาดขึ้นเองเอามาจากโลกโซเชียล มุ่งหวังนำมาใส่เนื้อหาเพื่อให้ได้เข้าใจง่ายต่อการสื่อสาร*