เมื่อวันที่ 27 พ.ย. – นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยกับท็อปนิวส์ ว่า แอมเนสตี้ เกิดจากประชาชนรวมตัวกันจัดตั้งเป็สมาคมขึ้นมาในแต่ละประเทศและมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งโดยหลักแล้วสมาคมที่จดขึ้นมาภายใต้ชื่อเดียวกันจะต้องได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสาขาและภาคีสมาชิก ซึ่งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับแอมเนสตี้สำนักงานใหญ่ และต้องเอาใบภาคีสมาชิกส่งให้กับกรมการปกครองหากใช้ชื่อเดยวกัน แต่จากการตรวจสอบพบว่าสมาคมแอมเนสตี้ในไทยไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมใหญ่ แต่ใช้ชื่อเดียวกัน และมีความเป็นกลางทางการเมือง แต่ปรกฎว่าแอมเนสตี้ในประเทศไทยเข้าไปร่วมทางการเมือง ร่วมก่อการในคดีล้มล้าง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของกรมการปกครองที่จะเพิกถอนทะเบียนของสมาคม
นายณฐพรกล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบไม่มีการส่งเอกสารให้กับกรมการปกครองซึ่งก็เท่ากับเป็นการไปแอบอ้าง และไม่ได้ทำตามข้อบังคับของแอมเนสตี้ต่างประเทศที่จะต้องมีความร่วมมือกับรัฐบาล มีความเป็นกลาง มีการร่วมมือกับภาคเอกชนในการป้องกันสิทธิเสรีภาพตามหลักสากล แต่แอมเนสตี้ไทยเราทำนอกเหนือ เพราะการเข้าร่วมชุมนุมไม่สามารถทำได้ และไม่สามารถยกป้ายได้อย่างเด็ดขาด
นายณฐพรกล่าวอีกว่า ส่วนการที่นำชื่อแอมเนสตี้มาแอบอ้างก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่จะต้องทำหนังสือส่งไปยังแอมเนสตี้สากลว่ามีการเคลื่อนไหว พร้อมเอานำคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแนบไปด้วย ขณะที่กระทรวงมหาดไทยก็จะต้องไปยกเลิกการจดตั้งสมาคม ซึ่งขณะนี้นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง ได้ทำหนังสือเชิญแอมเนสตี้มาพบแล้ว
ด้านนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่า ทางนายทะเบียน ที่จดตั้งสมาคม ได้ทำหนังสือไปยัง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้มาพบในสัปดาห์หน้าเพื่อมาชี้แจงถึงการเคลื่อนไหวและการกระทำว่าผิดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคมหรือไม่ ซึ่งก็ต้องดูข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ทางแอมเนสตี้จะมาชี้แจงว่าทำผิดระเบียบอะไรบ้าง
นายธนาคมกล่าวว่า ซึ่งการเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ต้องดูว่าผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตารา 102 ข้อ (1) เมื่อปรากฏในภายหลังการจดทะเบียนว่า วัตถุประสงค์ของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ และนายทะเบียนได้สั่งให้แก้ไขแล้วแต่สมาคมไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด (2) เมื่อปรากฏว่าการดำเนินกิจการของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ ซึ่งถ้าผิดกฎหมายสมาคมก็สามารถทำได้ตามระเบียบ (3) เมื่อสมาคมหยุดดำเนินกิจการติดต่อกันตั้งแต่สองปีขึ้นไป (4) เมื่อปรากฏว่าสมาคมให้หรือปล่อยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการของสมาคมเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคม )5) เมื่อสมาคมมีสมาชิกเหลือน้อยกว่าสิบคนมาเป็นเวลาติดต่อกันกว่าสองปี