ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 8 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมนั้น ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลุกขึ้นหารือถึงเรื่องต่างๆ เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ประเทศไทยต้องไม่เป็นม้าอารีต่อสิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศ ไทยเป็นประเทศหนึ่งเดียวในโลก ที่ให้ความเมตตามนุษย์ร่วมโลกให้มาอาศัยทำมาหากิน แต่ช่วงหลังถึงเวลาที่รัฐบาลต้องคัดเลือกผู้ที่เป็นคนต่างชาติ ที่ร่วมมือกับคนไทยเนรคุณแผ่นดิน จะเห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากออกมาต่อต้านขับไล่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งจุดประสงค์องค์กรแม่ที่ประเทศอังกฤษ เพื่อให้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทยนั้น ภายหลังมีการสืบทราบว่าน่าจะเป็นองค์กรเถื่อน และอาจจะไม่ได้จดทะเบียนโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้องค์กรเอ็นจีโอส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ทำตามวัตุประสงค์ตามที่จดทะเบียนไว้ เพื่อช่วยเหลือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่องค์กรที่ดำเนินการเป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศไทยอย่างแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย ได้ร่วมกับฝ่ายการเมืองและม็อบต่อต้านเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่อยากเสนอรัฐบาล คือเราต้องคัดกรององค์กรต่างๆเหล่านี้ หากพบเห็นเป็นประจักษ์ ว่าองค์กรที่จดทะเบียนทั้งองค์กรในประเทศ และต่างประเทศ ที่รับเงินต่างชาติแล้วทำผิดวัตุประสงค์ เป็นภัยต่อความมั่นคง รัฐบาลต้องใช้กฎหมายดำเนินการต่อองค์กรเหล่านี้ เพื่อความปลอดภัยของประเทศ
ขณะที่ นายสวัสดิ์ สมัครพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หารือถึงการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า มีข่าวการซื้อเสียงหัวละ 2,000 – 10,000 บาท ในหลายพื้นที่ ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก แต่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ได้ประมวลผลหรือหาแนวทางแก้ปัญหา ส่วนตัวคิดว่าตำแหน่งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด เป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่สิ้นเปลืองภาษีประชาชนโดยเปล่าประโยชน์ จึงขอเสนอนายกรัฐมนตรี และกกต. ให้ยุบตำแหน่งดังกล่าว และให้หารูปแบบใหม่เพื่อลดการซื้อเสียงในการเลือกตั้งเกิดความโปร่งใสต่อไป