วันที่ 2 ธ.ค.- ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า กี่เข็มถึงจะพอ Two is Too Many, Three is Not Enough ยามที่เราเฝ้าจ้องระวังข่าวเจ้าตัวกลายพันธุ์ใหม่ของโควิด 19 Omicron ซึ่งจนถึงวันนี้รู้แค่ว่ามันแพร่ได้ง่าย คงต้องใช้เวลาอีก 2-3 อาทิตย์ ถึงจะรู้ชัดว่า 1.มันทำให้เกิดโรครุนแรงไหม 2.มันหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนที่มีใช้กันอยู่ไหม ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นหรือระดับความจำภูมิคุ้มกันจะช่วยได้หรือไม่ 3.มันสามารถถูกตรวจพบได้ง่าย ไว และแม่นยำด้วยวิธีตรวจเดิมๆโดยเฉพาะ ATK หรือไม่ ทั้งหมดข้างต้นตามที่ติดตามนักวิจัย บริษัทผลิตวัคซีนทั่วโลกกำลังศึกษากันอย่างเร่งรีบ และคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 อาทิตย์จากนี้ไป (ซึ่งนับว่าเร็วแล้ว)
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิกล่าวว่า แต่ที่แน่นอนในขณะนี้ที่ควรเร่งและทำอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยด้วยคือการฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 และให้เข็ม 1 และ 2 ในคนที่ยังไม่เคยได้ในทุกกลุ่ม ทุกอายุ(การกลายพันธุ์ของ Omicron เป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็นว่า เจ้าโควิด 19 มันไปแอบกลายพันธุ์ในกลุ่มประชากรของโลกที่ไม่ได้วัคซีนอยู่ตั้งหลายเดือนก่อนออกมาสู่โลกภายนอก ในสถานการณ์ที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์ตลอดเวลาและแนวโน้มการระบาดใหญ่ไม่ได้เบาบางลง การฉีดเข็มกระตุ้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่อาจระบาดรุนแรงขึ้นมาอีกและอาจจำเป็นต้องทำซ้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันโรค ซึ่งหมายความว่า 2 โดสแรกคงยังไม่พอ แต่เราจะต้องฉีดเข็มกระตุ้นอย่างไร กี่เข็ม เมื่อไหร่และขนาดเท่าใด
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิกล่าวอีกว่า แม้จะยังไม่อาจสรุปได้ว่าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นสำหรับโรคโควิดไปตลอดหรือไม่ ดร.นพ.แอนโธนี เฟาชี่ (Anthony Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันโ รคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ ยืนยันว่า การป้องกันโรคนี้อย่างเต็มรูปแบบจะต้องได้รับวัคซีนถึง 3 โดส ซึ่งปัจจุบันมีการรณรงค์ ให้ฉีดเข็มกระตุ้นในผู้ที่รับวัคซีนปฐมภูมิครบตามระยะเวลาที่เหมาะสมระหว่าง 3-6 เดือน การได้รับวัคซีนปฐมภูมิ 2 โดสที่ฉีดห่างกันเพียง 3-4 สัปดาห์นั้นไม่อาจสร้างภูมิคุ้มกันที่ยืนยาวได้ การกระชับช่วงเวลาการฉีดระหว่าง 2 โดสแรก เนื่องมาจากในช่วงแรกนั้นอยู่ในภาวะวิกฤตที่ต้อง ควบคุมการระบาดใหญ่ให้สงบลงเร็ว (วัคซีนอื่นๆ ที่มีใช้มาก่อนหน้านี้ส่วนมากแล้วการฉีดชุดแรกใช้สามเข็มและกระตุ้นอีกเมื่อมีความเสี่ยง) แต่อาจส่งผลต่อการตอบสนองและการป้องกันของแอนติบอดี และทำให้ฤทธิ์ของวัคซีน(สองเข็มแรก)อยู่ได้ไม่นานและไม่พอ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิกล่าวต่อว่า การกำหนดช่วงเวลาการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เหมาะสมจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง การศึกษาพบว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้นและเร็วขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน mRNA เข็มที่ 3 หลังจากได้รับเข็มที่ 2 แล้ว 8 เดือน เมื่อเทียบกับการฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกเพียงไม่กี่สัปดาห์ นอกจากนั้น การตรวจระดับภูมิก็ไม่สามารถใช้เป็นหลักในการกำหนด ระยะการฉีดหรือ อายุของ ภูมิคุ้มกันในร่างกายของแต่ละคนได้เช่นกัน เนื่องจากวิธีตรวจภูมิที่ใช้กันอยู่ไม่สามารถระบุระดับการป้องกันโรคได้อย่างครอบคลุม ในขณะที่ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์นั้นมีการป้องกันหลายชั้น เมื่อร่างการติดเชื้อ เซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่าที เซลล์และบี เซลล์จะทำหน้าที่ตรวจจับและกำจัดเชื้อตลอดจนเซลล์ที่ติดเชื้อ และสามารถคงอยู่ในเลือดได้นานหลายปี พร้อมที่จะเสริมการป้องกันอื่นๆ ที่มีอยู่ และสามารถจดจำหากเชื้อโรคปรากฏหรือเกิดซ้ำ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิกล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาของศ.ดร.นพ.โจวานนา บอสเซลิโน (Giovanna Borselino) นักอิมมูโนโลหิตวิทยาแห่งมูลนิธิซานต้า ลูเชีย ในกรุงโรมและคณะ โดยติดตามการทำงานของที เซลล์และการตอบสนองของแอนติบอดีต่อโปรตีนส่วนหนามของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในบุคลากรทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ 71 รายที่สุขภาพดี หลังจากได้รับวัคซีน BNT162b2 (Pfizer-BioNTech) เข็มแรกเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าการฉีดวัคซีนสามารถกระตุ้นการตอบ สนองของที เซลล์อย่างยั่งยืน และการได้รับวัคซีนตามเกณฑ์จะทำให้การตอบสนองของเซลล์ ภูมิคุ้มกันอยู่นานกว่า 6 เดือน การจัดระยะในการฉีดวัคซีนปฐมภูมิและเข็มกระตุ้นภูมิให้เหมาะสม จึงเป็นวิธีการรักษาประสิทธิภาพของวัคซีนได้ดีที่สุด
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิกล่าวอีกว่า ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนประเภทใดก็สามารถใช้กระตุ้นภูมิได้เหมือนกันหมด มีข้อแตกต่างเพียงว่าถ้าเป็นวัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนแวคและซิโนฟาร์ม จะมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าและเบากว่า วัคซีน mRNA และ วัคซีนไวรัลเวคเตอร์ แต่วัคซีนเชื้อตายก็จะกระตุ้นภูมิได้ไม่สูงมากจึงต้องได้รับการฉีดกระตุ้นถี่กว่า เช่น ทุก 3-4 เดือนหากยังมีการระบาดรุนแรง ส่วนวัคซีน mRNA และไวรัลเวคเตอร์นั้นภูมิขึ้นสูงมาก จึงฉีดกระตุ้นได้ทุก 6-8 เดือน(มีคนมักถามว่าผมแนะนำอะไร โดยส่วนตัวผมเลือกใช้วัคซีนเชื้อตายครับ ด้วยความเชื่อส่วนตัว และฉีดบ่อยได้ ผมไม่กลัวเข็ม) ถ้ายังมีการระบาดอยู่เราคงต้องกระตุ้นภูมิกันไปเรื่อยๆ (ให้มันรู้กันไปข้างหนึ่งว่า เราจะกลายพันธุ์ทันเจ้าโควิด-19 ไหม ) อย่างไรก็ตาม การรักษามาตรการความ ปลอดภัยด้วยการใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างพยายามอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แม้จะได้รับวัคซีนครบ