วันนี้ (3 ธ.ค.) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ประชุมหารือ ร่วมกับ นางสาวสุนทราลักษณ์ เพ็ชรกูล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน จากสภาพัฒน์ และผู้แทนกลุ่มคนกลางคืน ถึงข้อสรุปแนวทางการเยียวยานักร้อง นักดนตรี นักแสดง และผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
นายสุชาติ ระบุว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 นายจ้าง ให้ลงทะเบียนโครงการ SME (โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน) ต่ออีก 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือนายจ้างกลุ่มนี้ 3 เดือน โดยไม่มีภาษี
กลุ่มที่ 2 ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะให้ประกันสังคมเยียวยาว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 7,500 บาท และจ่ายอีก 5,000 บาท จากรัฐบาล (ม.33 เรารักกัน)
กลุ่มที่ 3 ลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล โดยใช้เงินกู้จากรัฐบาล แต่ต้องให้สมาคม/สมาพันธ์รับรอง
ทั้งนี้ หลังจากที่ตัวเเทนกลุ่มต่างๆ ได้กลับไปรวบรวมจำนวนนักร้อง นักดนตรี กลุ่มศิลปินตลก ผู้ประกอบการสถานบันเทิง และรวบรวมรายชื่อมานำเสนอกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้ตรวจสอบตัวเลขในระบบพบว่า จำนวนผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มนี้ ทั้งประเทศ คาดว่าอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 2 แสนราย ซึ่งจะต้องใช้เม็ดเงินกู้จากรัฐบาลเยียวยาประมาณ 1 พันล้านบาท
โดยเม็ดเงินจำนวนนี้ กระทรวงแรงงานจะนำเสนอสู่คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ผ่านกระทรวงการคลัง สภาพัฒฯ เพื่อพิจารณา ส่วนผู้ที่เกินอายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่เข้าข่ายมาตรา 40 ของประกันสังคม จะประสานให้กระทรวงวัฒนธรรมสำรวจตัวเลขและเป็นผู้ดูแลเยียวยาต่อไป เบื้องต้น กระทรวงแรงงานจะจ่ายเยียวยาให้คนกลุ่มนี้จำนวนรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 1 เดือน คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินได้ภายในเดือนธันวาคมนี้
นายสุชาติ ยังกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือกลุ่มคนทำงานทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มนักร้อง นักดนตรี และอาชีพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงแรงงาน จะเร่งดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้างกลุ่มเหล่านี้ให้ได้รับการช่วยเหลือทุกคน ทุกกลุ่มอย่างเร่งด่วน ตามนโยบายรัฐบาล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง