เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุถึงข้อยุติร่วมในประเด็นของการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.บ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองถึงสูตรการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะเสนอต่อประธานรัฐสภาว่า ตามร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะแบ่งเศษเฉพาะพรรคที่ได้จำนวนเต็ม แต่ตามแนวทางของวิปรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐจะไม่ระบุว่าจะต้องเป็นพรรคการเมืองที่ได้จำนวนเต็ม คือ พรรคการเมืองใดที่ได้ส.ส.เศษมากสุด หรือพรรคนั้นอาจจะยังไม่ได้ส.ส.จำนวนเต็มเลย แต่มีเศษเหลืออยู่ก็จะมาดูพรรคที่ได้เศษมากสุดและอาจเป็นพรรคที่ไม่ได้ส.ส.เขตเลย ก็จะได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะต่างกับร่างของกกต. เพราะส.ส.ที่ได้จากการปัดเศษไม่ว่าจะพรรคใหญ่ พรรคกลาง พรรคเล็ก หรือพรรคที่ยังไม่ได้ส.ส.เลย มันก็มีสถานะคือปัดเศษเหมือนกัน หลักคิดนี้คือถ้าเศษมากสุดก็ควรจะได้
เมื่อถามย้ำว่าสูตรคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อแบบนี้ถือว่าแฟร์กับทุกพรรคแล้วใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ใช่ แล้ว แต่พรรคไหนได้เศษมากสุด เช่น ส.ส. 1 คน ต้องได้ 350,000 เสียง แต่ปรากฏว่าเสียงไม่ถึงก็จะไม่ได้ในรอบแรก เพราะในรอบแรกต้องได้จำนวนเต็ม แต่พอแบ่งกันเสร็จแล้วเหลือเศษค่อยมาดูพรรคที่เศษมากที่สุด อย่างพรรคที่ไม่ได้ในรอบแรกแต่ว่าเศษอาจจะมี320,00 เสียงก็ได้ส.ส. ซึ่งถ้าเป็นร่างของทางกกต.จะไม่ดูตรงนี้จะตัดออกไปเลย แต่แนวทางร่างของพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลจะออกมาว่ายังมีสิทธิ์ได้ถ้าเศษมากกว่า เราดูพรรคการเมืองทุกพรรคที่ได้คะแนนเสียงพรรคใดมีเศษมากสุดก็ได้ส.ส.ไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ส่งส.ส.เขต 1 เขตสามารถส่งส.ส.บัญชีรายชื่อได้ อย่างนี้ถือเป็นการเอาใจพรรคเล็กหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่งส.ส.สามารถส่งส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ซึ่งไม่ได้กำหนดจำนวนไว้ ดังนั้นร่างกฎหมายที่ไม่ได้กำหนดจำนวนแสดงว่าส่งเขต 1 ก็สามารถส่งส.ส.บัญชีรายชื่อได้ และเรื่องนี้มีมาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว