รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่มีพลาด วันที่ 5 ธันวาคม สำนักข่าวเดิม ทั้งๆ ที่รู้ ยังคงโพสต์ลงว่า เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ลงถึง 2 โพสต์ ห่างกัน 1 ชั่วโมง ข้อความที่ลงยังคงแนบเนียน ไม่มีอะไรที่ไม่เหมาะสม แต่ comments ที่ตามมา สำหรับผู้ที่จงรักภักดี หากเข้าไปอ่านแล้ว น่าจะรู้สึกเหมือนกันคือ จิตตก อารมณ์เดือด อยากจะทำอะไรสักอย่างกับพวกนี้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรได้บ้าง
โดย Comment ที่ชัดเจนว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากหัวขบวนของขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ คือประโยคที่หลายคนใช้ว่า “เซ็นรัฐประหาร” ประหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อมีพระบรมราชานุญาตให้ทำรัฐประหารได้ ซึ่งความเห็นแบบนี้น่าจะเริ่มมาจากนักวิชาการบางคนที่กล่าวหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารทุกครั้ง
รศ.หริรักษ์ อธิบายต่อว่า เมื่อทหารทำรัฐประหาร หากทำไม่สำเร็จก็กลายเป็นกบฏ หากทำสำเร็จก็ได้อำนาจสูงสุดของรัฐ จากนั้นคณะรัฐประหารก็จะเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าเสนอให้พระบาทพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิโธย โปรดเกล้าแต่งตั้ง คณะบุคคลที่จะปกครองประเทศชั่วคราว ธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราว และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีตามลำดับ อยากถามว่า เมื่อถึงเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีทางเลือกเป็นอื่นหรือ อีกประการหากพระองค์ทรงขัดขวาง จะเป็นการไม่อยู่เหนือการเมืองหรือไม่
รศ.หริรักษ์ ระบุอีกว่า ในอดีตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง 3 ครั้ง ทุกครั้งล้วนเมื่อสถานการณ์มาถึงทางตัน ไม่มีทางออกใดๆ
ครั้งแรก หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นผลให้จอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร ยอมออกนอกประเทศ และมีการตั้งรัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเรียกกันว่า เป็นรัฐบาลพระราชทานขึ้น
ครั้งที่ 2 ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้คู่ขัดแย้งคือ พลเอกสุจินดา คราประยูร กับ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า เป็นผลให้เหตุการณ์ที่กำลังจะรุนแรงลุกลามใหญ่โต สงบลงได้อย่างอัศจรรย์
ครั้งที่ 3 เมื่อบ้านเมืองไม่มีทางออก ช่วงสมัยที่ 2 ของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งประกาศยุบสภา เป็นผลจากการชุมนุมประท้วงขับไล่ครั้งใหญ่ของประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่ลงเลือกตั้ง การเลือกตั้งมีการจ้างพรรคเล็กให้ส่งผู้สมัครลงในเขตที่มีผู้สมัครเพียงพรรคเดียว เพื่อหนีเกณฑ์ที่ต้องได้คะแนนขั้นต่ำ ครั้งนี้พระองค์เพียงทรงแนะให้ฝ่ายตุลาการหาทางออกให้ประเทศเท่านั้น
ทั้ง 3 ครั้ง หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางเฉย ไม่เกี่ยวข้องด้วย บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร มองอีกมุมหนึ่ง ต้องยอมรับว่า พระองค์ทรงเสียสละเสียด้วยซ้ำ ที่ทรงลงมาเช่นนี้ พวกที่หลงเชื่อว่า พระมหากษัตริย์ต้องต่อต้านรัฐประหาร และยิ่งกว่านั้นหลงเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารทุกครั้ง อยากให้กลับมาพิจารณาใหม่ ด้วยเหตุด้วยผล และด้วยใจเป็นธรรม พวกเราที่มีลูกมีหลานก็ควรให้เหตุผลที่ถูกต้องกับพวกเขา เพื่อเขาจะได้ไม่เข้าใจผิด เชื่อตามการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตลอดไป