วันที่ 6 ธ.ค. 64 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกและในไทย ว่า วันนี้ทั่วโลกติดเชื้อสะสมแล้ว 266.1 ล้านราย เสียชีวิตสะสม 5.2 ล้านราย สำหรับวันนี้ติดเชื้อใหม่ 4.1 แสนราย แนวโน้มระบาดตัวเลขยังสูงอยู่ โดยทวีปยุโรป อเมริกายังเป็นจุดระบาดใหญ่ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.64 แต่แนวโน้มอัตราเสียชีวิตลดลง จากเดิมอยู่ที่ 2% นิดๆ เหลือ 1.98% ดูเหมือนความรุนแรงโรคน้อยลง จากการดูแลรักษา มียาใหม่ๆ และมีการฉีดวัคซีน สำหรับประเทศไทยพบรายใหม่ 4,000 ราย สะสม 2.1 ล้านราย เสียชีวิต 22 ราย สะสม 20,823 ราย โดยผู้มีอาการปอดอักเสบลดเหลือ 1,259 ราย ผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 330 ราย ทั้งนี้ แนวโน้มการระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูเหมือนลดลง แต่บางประเทศยังสูงอยู่ เช่น เวียดนามที่มีการติดเชื้อสูง วันนี้พบถึง 1.4 หมื่นราย เสียชีวิตกว่า 200 ราย รวมถึงเกาหลีใต้ด้วย
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับสายพันธุ์โอมิครอน หรือ B.1.1.529 ที่หลายคนสงสัยว่าออกเสียงอย่างไร ในการประชุมร่วมกับองค์การอนามัยโลก เขาออกเสียงเป็น โอมิครอน แต่จะเรียกอย่างไรก็เป็นเชื้อตัวเดียวกัน ทั้งนี้ การกลายพันธุ์พบตลอดเวลา โดย 3 ประการสำคัญคือ แพร่เร็ว ความรุนแรงมากขึ้น และดื้อต่อการรักษา รวมถึงทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลด ล่าสุด สายพันธุ์โอมิครอน ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่สำคัญจับตา เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรม แต่ข้อมูลโควิด-19 เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจากความรู้สึก ไม่ผ่านการวิเคราะห์กลั่นกรองโดยผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น ย้ำว่าการรับข้อมูลทางโซเซียลมีเดีย ต้องใช้การกลั่นกรอง แต่ข้อมูลของ สธ. เราเป็นทางการที่ผ่านผู้เชี่ยวชาญกลั่นกรอง มีหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมถึงข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก
“ดูเหมือนรูปแบบการระบาดโควิด-19 จะใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่ที่เราคุ้นเคยในอดีต เมื่อระบาดเยอะก็กลายเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงลดลง เช่น โอมิครอน องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ยังไม่มีการรายงานผู้เสียชีวิตจากโอมิครอนแม้แต่รายเดียว ตรงกับข้อมูลหลายหน่วยงานว่าความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า ค่อนข้างมาก” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ล่าสุดวันที่ 5 ธ.ค.64 ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว 46 ประเทศ และคงเติมไทยเป็นประเทศที่ 47 ซึ่งแบ่งการติดเชื้อออกเป็น 1.ติดเชื้อในประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ รวมแล้วมี 15 ประเทศ 2.การติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้า มี 31 ประเทศรวมถึงไทยด้วย และยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน
นพ.โอภาส กล่าวว่า เชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเร็ว 2-5 เท่า ส่วนใหญ่อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ลักษณะการติดเชื้อแยกยาก จากสายพันธุ์อื่นๆ ทั้งเดลต้า อัลฟ่า แกมม่า แต่ที่มีรายงานจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ. และไม่มีรายงานการเสียชีวิต สิ่งสำคัญขณะนี้มาตรการที่องค์การอนามัยโลก และ CDC สหรัฐ แนะนำคือ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยประเทศไทยขณะนี้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 95 ล้านกว่าโดส โดยเฉพาะคนฉีดเข็ม 1 ในคนไทยครอบคลุมเกิน 75% แล้ว และเข็มที่ 2 เกิน 60กว่า% และขณะนี้กำลังบูสเตอร์โดสเข็ม 3 โดยขอให้รอฟังประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่า ครบ 2 เข็มเดือนไหน และจะให้ฉีดบูสเตอร์โดสเมื่อไหร่ คาดว่าเดือนธ.ค.-ม.ค. จะมีการฉีดบูสเตอร์โดสมากที่สุด