ศาสตราจารย์แมททิว สเนป แห่งมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ผู้อยู่เบื้องหลังการทดลอง ได้กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ผลการศึกษาการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบผสม โดยการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาหรือไฟเซอร์-บิออนเทค ในเข็มแรก และ ฉีดวัคซีนโมเดอร์นา ในอีก 9 สัปดาห์ต่อมา พบว่ามีการตอบสนองภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น และดีกว่าการใช้ แอสตราเซเนกาเพียงชนิดเดียวในการฉีดทั้ง 2 โดส
ศาสตราจารย์สเนปกล่าวเสริมว่า ไม่มีความจำเป็นต้องยึดติดกับวัคซีนตัวเดิมในเข็มที่ 2 ถ้าจะต้องมีการฉีดวัคซีนที่ต่างชนิดก็เป็นเรื่องที่ทำได้ ทั้งนี้ สเนปยังมีความเห็นว่า ผลการศึกษานี้ จะกลายเป็นความหวังให้แก่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและยากจน ที่อาจจะต้องมีการฉีดวัคซีนที่ต่างชนิดกันให้กับประชาชนในประเทศ
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดในอาสาสมัคร 1,070 คน ระบุว่า หากฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา แล้วตามด้วยวัคซีนโมเดอร์นา หรือวัคซีนโนวาแวกซ์ จะเกิดแอนติบอดี และสร้าง T-cell ในระดับที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการฉีดแอสตร้าเซนเนกาสองโดส ในส่วนของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แล้วตามด้วยวัคซีนโมเดอร์นา ก็ดีกว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ทั้งสองโดส
อย่างไรก็ดี ในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แล้วตามด้วยวัคซีนโนวาแวกซ์ จะทำให้เกิดแอนติบอดีที่สูงกว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาสองโดส แต่การตอบสนองของแอนติบอดีและ T-cell จะต่ำกว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สองโดส
ก่อนหน้าที่จะมีผลการทดลองที่ยืนยันออกมาเช่นครั้งนี้ หลายประเทศต้องอนุมัติให้มีการใช้วัคซีนสูตรไขว้ เนื่องมาจากข้อจำกัดในการเข้าถึงวัคซีนท่ามกลางการระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลต่างต้องเร่งการสร้างภูมิคุ้มกันให้เร็วที่สุดต่อประชาชน