วันที่ 8 ธ.ค. – ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กข้อความว่า โควิด-19 “โอมิครอน” แนวโน้มความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า ในอดีตที่ผ่านมาเห็นได้ชัด เมื่อมีสายพันธุ์หนึ่งแพร่กระจายได้เร็วกว่า ก็จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิม เราเห็นได้ตั้งแต่สายพันธุ์แอลฟา และสายพันธุ์เดลต้า ขณะนี้สายพันธุ์เดลต้า ทั่วโลกพบถึงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ บทเรียนดังกล่าวเห็นได้ชัดจากไข้หวัดใหญ่ ก่อนที่จะมีไข้หวัดใหญ่ 2009 H1N1 ระบาด เรามีไข้หวัดใหญ่ H1N1 ตามฤดูกาลอยู่แล้ว คนละสายพันธุ์กันเลย หลังจากการระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 H1N1 ไข้หวัดใหญ่ H1N1 สายพันธุ์เดิม ที่ระบาดก่อนหน้านั้นก็ถูกแทนที่โดยไข้หวัดใหญ่ 2009 H1N1 และไม่พบตัวเดิมอีกเลยจนถึงปัจจุบัน และก็เป็นไปไม่ได้ที่สายพันธุ์ H1N1 จะไปแทนที่ H3N2 หรือ Flu B เพราะเป็นคนละตัวกัน เช่นเดียวกันเชื้อ โควิด-19 ก็ไม่สามารถไปแทนที่ไวรัสโคโรนาที่เกิดโรคในเด็ก เช่น OC43 229E เพราะเป็นคนละตัวกัน
ศ.นพ.ยงกล่าวอีกว่า ทำนองเดียวกัน โอมิครอนถ้าระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม ก็จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้าเป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ในอดีตเราพัฒนาวัคซีนเชื้อเป็นจากไวรัส เราก็ใช้ไวรัสก่อโรค ให้มีการติดเชื้อซ้ำ แล้วซ้ำอีก ในเซลล์ทดลอง หรือสัตว์ทดลอง เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำนานๆ ไวรัสตัวนั้นก็จะอ่อนฤทธิ์ลง แล้วเอามาทำวัคซีน ชนิดเชื้อเป็น เพราะการติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก ไวรัสเองก็พยายามปรับตัว ลดการทำร้ายเจ้าถิ่น หรืออ่อนฤทธิ์นั่นเอง
ศ.นพ.ยงกล่าวต่อว่า ขณะนี้จากการพบผู้ป่วยทั่วโลกมีแนวโน้มที่ดี จะเห็นว่าการพบนอกทวีปแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นแบบไม่มีอาการ อีกเกือบครึ่งหนึ่งมีอาการน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า และก็เช่นเดียวกันในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ผู้ป่วยสายพันธุ์ โอมิครอน ก็มีแนวโน้มที่จะรับไว้ในโรงพยาบาลน้อยกว่าสายพันธุ์เดิมเดลต้า ถ้าทั้งหมดนี้เป็นความจริง (ที่ต้องรอพิสูจน์อีกระยะหนึ่ง) ก็นับว่าเป็นข่าวดี เราก็อยากให้เป็นเช่นนั้น ถ้าโรคไม่มีรุนแรง และมีการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก การติดเชื้อก็เหมือนเป็นการสร้างภูมิต้านทานโดยธรรมชาติ ถึงเวลานั้น ความจำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนก็จะลดลง วัคซีนจะใช้ในกลุ่มเสียง ที่มีโอกาสเป็นแล้วรุนแรง ตลาดของวัคซีน จะได้อยู่ในมือของผู้ซื้อเสียที