วันที่ 8 ธันวาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มเติมในไทย ว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากการมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองการกลายพันธุ์โควิดในไทย ตามที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศให้โอมิครอน เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล(Variant of concern) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา แต่เราได้รับข้อมูลจากหลายประเทศรวมถึงยุโรปที่นำสายพันธุ์เดิมไปตรวจสอบพบว่า เจอโอมิครอนมาตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.หรือก่อนหน้าแล้ว เราจึงนำเอาเชื้อของผู้ที่เข้าประเทศไทยผ่านระบบกักตัวที่เดินทางเข้ามาก่อน 24 พ.ย. ที่มีผลตรวจ RT-PCR เป็นบวก เอาเชื้อไปตรวจซ้ำ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ในทุกราย ซึ่งพบว่ามี 2 ราย ที่ติดเชื้อโอมิครอน
นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลรายละเอียดของการถอดรหัสพันธุกรรมขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำลังสรุปผล 100% ส่วนข้อมูลผู้ติดเชื้อเบื้องต้น เป็นหญิงไทย 2 ราย อายุ 36 และ 46 ปี คาดว่าเดินทางไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่ประเทศไนจีเรีย หลังจากนั้นเดินทางกลับมาประเทศไทยด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.64 ผ่านระบบการกักตัว ผลการตรวจ RT-PCR เป็นบวก หลังจากนั้น ก็เข้ารับการรักษาตามปกติ ซึ่งผู้ติดเชื้อทั้ง 2 รายอาการน้อย แต่ก็ได้รับการดูแลจนไม่มีเชื้อ ไม่สามารถแพร่ต่อให้ใครได้ แพทย์จึงอนุญาตให้เดินทางกลับบ้านได้แล้ว แต่ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลเนื่องจากทั้งสองรายได้รับการรักษาแล้ว
“ข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า ความรุนแรงของโอมิครอนค่อนข้างต่ำ องค์การอนามัยโลกยืนยันว่ายังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโอมิครอนแม้แต่รายเดียว ข้อมูลทุกอย่างต้องผ่านการวิเคราะห์ให้รอบด้าน ไม่สามารถเอาข้อมูลเดียวมาบอกได้ ซึ่งสธ.จะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อถามว่าผู้ติดเชื้อโอมิครอน 2 รายดังกล่าวได้มีประวัติฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้นมีประวัติฉีดแต่ฉีดอะไร ต้องไปทวนอีกครั้ง แต่สิ่งที่ต้องเตือนคือ จากข้อมูล 2 รายดังกล่าวให้ประวัติมาว่าเข้าร่วมกิจกรรมในประเทศไนจีเรีย ไม่ค่อยสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คนไทยเมื่ออยู่ในประเทศ สวมหน้ากากอนามัยดีมาก ๆ แต่หากไปอยู่ต่างประเทศ ก็อย่าเผลอ เพราะหลายประเทศไม่สวมหน้ากาก ดังนั้น เราต้องพยายามสวมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกประเทศ
เมื่อถามว่าลักษณะเช่นนี้มีอีกกี่ราย นพ.โอภาส กล่าวว่า แม้จะมีกี่รายเราก็ไม่ต้องกังวลเพราะในระบบแบบไม่กักตัว(Test and go) ก็มีระบบตรวจสอบคือ ผู้เดินทางเข้ามาต้องฉีดวัคซีนครบถ้วน ตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางถึงไทยภายใน 72 ชั่วโมง เมื่อเดินทางเข้ามาถึงก็ตรวจซ้ำอีกครั้ง สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ หรือไม่ได้ตรวจ RT-PCR มาก็ต้องเข้าระบบกักตัวในระบบ
เมื่อถามต่อว่า ขณะนี้มีข้อมูลคนไทยในทวีปแอฟริกาที่ต้องการเดินทางกลับประเทศมากน้อยอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า รอการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศอยู่ ซึ่งเราพร้อมให้บริการคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ แต่ข้อมูลที่รับรายงานพบว่าส่วนใหญ่ไม่ประสงค์กลับ เพราะรู้สึกว่าโอมิครอนไม่น่ากลัวแล้ว “เชื่อว่าความกังวลโอมิครอนน่าจะลดน้อยลงทั่วโลก” นพ.โอภาส กล่าว