วันที่ 9 ธ.ค.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ตั้งคำถามกรณีกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจเหนือคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ ว่า การบริหารโทษและการพิพากษากำหนดโทษเป็นคนละส่วนกัน ภายใต้กรอบอำนาจที่แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ภายใต้อำนาจตามกฎหมายของแต่ละฝ่าย ซึ่งการบังคับโทษทางอาญาคือ การบริหารโทษ เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ที่ดำเนินการได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจโดยพลการหรือเลือกปฏิบัติให้ผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ สำหรับพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ เป็นกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขโทษ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ไม่มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงโทษเช่นกัน
นายสมศักดิ์กล่าวว่า การบังคับโทษโดยปกติในทางปฏิบัติ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะบังคับโทษทั้งสิ้นตามคำพิพากษา แต่จะมีกลไกทางกฎหมายอื่นมาบริหารโทษให้เป็นไปตามความเหมาะสม เช่น ลักษณะและพฤติการณ์แห่งคดี โดยมุ่งเน้นให้ผู้กระทำผิดได้รับโอกาสให้กลับตนเป็นพลเมืองที่ดี พร้อมกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ขอให้ลองนึกภาพย่อลงมาในระดับครอบครัว เชื่อว่าไม่มีพ่อและแม่คนใดที่จะที่ลงโทษลูกจนครบ หรือตีลูกจนบาดเจ็บล้มตาย ส่วนมากก็ลงโทษแต่พอสมควรคือ การให้อภัย การให้โอกาส เพื่อให้คนในครอบครัวได้อยู่อย่างปกติสุข
รมว.ยุติธรรมกล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์ของการลงโทษคือการป้องปราม ยับยั้งการกระทำ และแก้ไขผู้กระทำผิด การลงโทษจึงมีหลากหลายวิธีทั้งในเรือนจำและนอกเรือนจำ รวมทั้งการลงโทษทางสังคมทางชื่อเสียงเกียรติยศ ที่ผู้กระทำผิดและครอบครัวได้รับไปแล้วส่วนหนึ่ง โดยเชื่อว่าความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ไม่ได้อยู่ที่ความรุนแรง หรือการลงโทษสูงเป็นสำคัญ แต่จะอยู่ที่ความแน่นอนและรวดเร็วของการลงโทษ ที่จะมีผลยับยั้งการกระทำความผิดมากกว่า
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า การบริหารโทษตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมนั้น มีความหลากหลายทั้งในเรือนจำและนอกเรือนจำ คือ การคุมประพฤติและติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไล EM และการดำเนินการเป็นไปโดยเสมอภาคกัน ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติให้ผู้หนึ่งผู้ใด ผู้ต้องโทษทุกรายจะได้รับการบริหารโทษอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ส่วนการพระราชทานอภัยโทษนั้น เป็นกลไกหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้ต้องราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน บนพื้นฐานของหลักเมตตาและกรุณาอันมาจากองค์อธิปัตย์หรือประมุขแห่งรัฐ
“ขอยืนยันว่าเราดำเนินการตามหลักกฎหมายที่มุ่งให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิด ให้กลับตนเป็นพลเมืองดี เคารพกฎหมายในสังคมด้วยความเสมอภาค เท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์นั้นเป็นไปตามหลักทัณฑวิทยาที่นานาอารยประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาพฤตินิสัย และให้โอกาสผู้พลั้งพลาดในการกลับตัวสู่สังคม” รมว.ยุติธรรมกล่าว