นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะ นิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว “Top News” ถึงกรณีที่กลุ่มประชาชนคนไทยยื่นหนังสือให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้สภาฯอใช้กลไกเลือกนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองคนใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา272 วรรคสอง เพื่อทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลสร้างชาติว่า การเลือกนายกฯคนนอกบัญชีพรรคการเมือง ตามมาตรา 272 วรรคสอง สามารถทำได้ แต่จุดเริ่มต้นพล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกก่อน หากพล.อ.ประยุทธ์ลาออก ทุกอย่างจะเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ที่บัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองฯ แต่การที่จะให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นต้องใช้เสียงข้างมากของสองสภาฯ คือสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร้องขอต่อประธานรัฐสภาจัดประชุมเพื่อลงมติงดเว้นการใช้มาตรา 88 โดยการประชุมต้องได้คะแนนมากกว่า 2 ใน 3 ของทั้งสองสภาฯ จากนั้นจึงจะกลับมาใช้มาตรา 159 วรรคหนึ่ง ที่จะเสนอชื่อใครก็ได้
“การดำเนินการดังกล่าวมีหลายขั้นตอนมาก กว่าจะได้นายกฯ คนนอก โดยทั่วไปตามสถิติพบว่าการที่นายกฯจะลาออกเองนั้นมีน้อยมาก หากพล.อ.ประยุทธ์ลาออกจริง ก็ลาออกคนเดียว แต่ทีมงานยังเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนเครือข่าย ถามว่าแล้วแบบนั้นจะได้อะไร ดังนั้นการลาออกของนายกฯประเทศไทย จึงไม่ค่อยเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นการยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่ในสภาวการณ์แบบนี้ที่ประเทศกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย การเลือกตั้งจะไม่มีประสิทธิภาพได้ และจะเกิดผลหลังปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหนก็ไม่รู้ ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนคนไทยนั้นที่ผ่านมาก็เคลื่อนไหวต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน โดยหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวก็มักจะเปลี่ยนหน้าชกสลับกลุ่มสลับข้อเรียกร้องของตนเองไปเรื่อย” นายเจษฎ์ กล่าว