วันที่ 10 ธ.ค.64. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) พอใจตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมประจำเดือน พฤศจิกายน 2564 ที่ปรับตัวสูงขึ้น ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 45.2 จากเดิมที่ 43.4 ในเดือนตุลาคม เป็นการปรับเพิ่มขึ้นอย่างเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็รายงานผลการสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 43.9 ในเดือน ต.ค. เป็น 44.9 ในเดือน พ.ย. 2564 นับว่าความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 7เดือนหลังจากการเปิดประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้แก่ปัจจัย เรื่องภัยพิบัติ/โรคระบาด ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 34.33 รองลงมาคือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย คิดเป็นร้อยละ 28.79 ปัจจัยด้านมาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 15.41 ปัจจัยด้านการเมือง คิดเป็นร้อยละ 7.07 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 5.22 ปัจจัยด้าน สังคม/ความมั่นคง คิดเป็นร้อยละ 3.79และปัจจัยด้านราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 5.38 ตามลำดับ
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid –19 ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประชาชนคลายความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส Covid–19 และท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดำเนินการได้ในช่วงปลายปีนี้ ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการของรัฐบาล อาทิ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การลด/ยุติเวลาเคอร์ฟิว การประกาศเปิดประเทศ ทำให้ภาคเอกชนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวตามการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ที่ครม.ได้มีมติเห็นชอบ ให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ เพื่อรักษาเสถียรภาพน้ำมันดีเซล ก็ส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยในการบริโภคและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และคาดว่า โครงการ/แผนงานที่แต่ละกระทรวงจัดเตรียมเพื่อ มอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่พี่น้องคนไทย ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมตรี จะยิ่งช่วยเสริมบรรยากาศเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปีนี้ด้วย”