วันที่ 11 ธันวาคม 2564 เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana หรือ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความระบุว่า…
ทีมวิจัยที่เมือง Cape town ของแอฟริกาใต้แสดงข้อมูลของผู้ป่วยชาวเยอรมัน 7 คน (ชาย 2 หญิง 5) อายุเฉลี่ย 27.7 ปี (25-39 ปี) ที่ติดไวรัสโอมิครอน (ยืนยันด้วย sequencingแล้ว) ในขณะพำนักอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ โดยผู้ป่วยทั้ง 7 คน ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม โดย 5 คนได้ PZ 3 เข็มแล้ว โดยเข็มที่ 3 ได้ประมาณช่วง ตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่วนอีก 1 คนได้เข็ม PZx2 และ เข็มสามเป็น MDN เต็มโดสตั้งแต่ 3 ตุลาคม และ อีก 1 คนได้เข็มไขว้ AZ-PZ และ ได้เข็มสามเป็น PZ วันที่ 26 ตุลาคม
โดยสรุปคือ ทุกคนได้เข็มกระตุ้นมาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการระบาดของ “โอมิครอน” ในเมืองนี้ของแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นสภาวะที่ภูมิหลังเข็มสามยัง active เต็มที่ แต่ก็ยังติดเชื้อสายพันธุ์นี้
ทั้ง 7 คน มีอาการป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล อาการที่เห็นชัดในผู้ป่วยคือ ไอแห้ง เจ็บคอ เยื่อบุจมูกอักเสบ หายใจไม่สะดวก อ่อนเพลีย เมื่อตรวจปริมาณไวรัสในตัวอย่างของผู้ป่วยแต่ละคน พบว่า ไวรัสในตัวอย่างมีปริมาณค่อนข้างสูง 1.41 x 10e4 ถึง 1.65 x 10e8 (เฉลี่ย 4.16 x 10e7 copies/ml)
ซึ่งพบว่าจุดสูงสุดของไวรัสคือ วันที่ 4 หลังแสดงอาการ ถ้าเทียบดูปริมาณไวรัสโดยเฉลี่ยของโควิดโดยทั่วไปคือ 6.76 x 10e5 copies/ml ที่ 5 วันหลังมีอาการ ทำให้อาจเป็นไปได้ที่ โอมิครอนจะสามารถเพิ่มจำนวนได้ดีกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ข้อมูลยังน้อยเกินไปที่จะสรุปในตอนนี้
ที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยที่ 6 ใน 7 คน มีค่าแอนติบอดีในเลือดที่วัดในหน่วย AU/ml สูงเกินหมึ่นทุกคน ผู้ป่วยรายที่ 2 ที่มีปริมาณไวรัสสูงสุดเป็นผู้ที่มีแอนติบอดีสูงถึงมากกว่า 40000 AU/ml ซึ่งชัดว่าปริมาณแอนติบอดีสูงๆด้วยการวัดวิธีนี้ไม่สามารถอนุมานต่อได้ว่าจะป้องกันการติดเชื้อ “โอมิครอน” ได้