เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 ธ.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 10 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระกระทู้ถามด้วยวาจา กรณีการลดโทษให้ผู้ต้องขังคดีจำนำข้าว โดยนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งกระทู้ถามนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมว่า ตนขอถามกรณีผู้ต้องขังออกจากเรือนจำเร็วเกินไปและการลดโทษกรณีผู้ต้องขังคดีจำนำข้าว ที่สร้างความเสียหายให้ประเทศหลายแสนล้าน มีคนตายจากคดีนี้เป็นสิบๆคน ศาลตัดสินจำคุกแรงมาก แต่กรมราชทัณฑ์ภายใต้การกำกับดูแลของ รมว.ยุติธรรม มีมาตรการในการลดหย่อนผ่อนโทษและการจัดลำดับชั้นนักโทษ เพื่อเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว คนไทยคิดว่าคนที่ทุจริตต้องถูกลงโทษอย่างสาสม แต่การลดโทษแบบนี้เป็นการกระทำการเหมือนตบหน้าคนไทยทั้งประเทศ การทำงานของรมว.ยุติธรรมอาจจะไม่ได้ไปล้วงลูก แต่มีคำพูดมาโดยตลอดว่าคนมีเงิน คนมีอิทธิพล คนมีอำนาจไม่ติดคุก ถึงติดคุกก็ติดสบาย คนจนมีแต่ติดจนถูกขังลืม กระบวนการภายใต้กำกับของรมว.ยุติธรรมได้ไปกำกับดูแลกระบวนการเหล่านี้มากน้อยเพียงใด กว่าที่จะเอาคนพวกนี้มาเข้าคุกได้ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักมาก แต่กรมราชทัณฑ์กลับไปลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ และมีคนพูดว่าคนพวกนี้เป็นพวกเดียวกับท่าน เคยเป็นนักการเมืองเป็นรัฐมนตรีด้วยกัน ตนขอถามแบบตรงไปตรงมาว่า กระบวนการเลื่อนชั้นนักโทษเหล่านี้ ท่านรู้เรื่องบ้างหรือไม่ มีส่วนรู้เห็นมากน้อยเพียงใด มีการตรวจสอบหรือไม่ หลักเกณฑ์ในการเลื่อนระดับนักโทษ มีการวิ่งเต้นใช้เงินหรือไม่ คดีคอรัปชั่น คดียาเสพติด ศาลต้องลงโทษแรงและพิจารณาคดีเร็ว แต่สวนทางกับท่าน แรงกลับทำให้เบา ออกจากคุกเร็ว ท่านจะมีการพิจารณาเลื่อนชั้นกับคดีเหล่านี้หรือไม่
ขณะที่นายสมศักดิ์ กล่าวชี้แจงว่า ท่านกล่าวหาและกระแนะกระแหนเหมือนว่าตนกระทำผิดเสียเอง ตนมารับตำแหน่งรมว.ยุติธรรม ได้บริหารความยุติธรรมในทุกชั้นทุกแนวทางหรือผู้คนที่มาร้องเรียน ตนปวารณาตัวว่าจะแก้ปัญหาทำให้เกิดความยุติธรรม ให้ประชาชนพึงพอใจ ทั้งๆที่ผู้คนอาจจะไม่ได้หวังว่าตนจะทำหน้าที่ รมต.ด้านสังคมได้อย่างไร แต่ตนมั่นใจในการทำหน้าที่ สิ่งที่ได้ดำเนินการไปนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามแนวทางและครรลองต่างๆ ซึ่งมีการปฏิบัติมาตั้งแต่ พ.ศ.2459 จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 105 ปี มี พ.ร.ฎ.อภัยโทษผู้ต้องขัง 52 ฉบับ และแนวทางดังกล่าวนั้น ก็แบ่งออกเป็นขั้นเป็นชั้นเป็นตอน เพื่อแยกแยะประเภทของโทษ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างชัดเจนในรูปแบบของเอกสาร และมีการปรับปรุงมาเป็นลำดับ ซึ่งตนคิดว่า ที่ผ่านมาผู้ต้องขังเขาประทับใจในการทำงานของกรมราชทัณฑ์ ในการพักโทษแต่ละครั้งแต่ละคราวตนเห็นแต่มีคนชื่นชมยินดี เพราะไม่ต้องมาเสียเงิน โดยหลักเกณฑ์ในการลดโทษ คือ คดีอาญาทั่วไป ชั้นเยี่ยมลดโทษ 1 ใน 2 ชั้นดีมากลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นดีลดโทษ 1 ใน 4 และชั้น กลาง ลดโทษ 1 ใน 5 คดีอาญาร้ายแรง เช่น ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตำแหน่งหน้าที่ ในส่วนนี้ชั้นเยี่ยมลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นดีมาก ลดโทษ 1 ใน 4 ชั้นดี ลดโทษ 1 ใน 5 และ ชั้นกลาง ลดโทษ 1 ใน 6 บุคคลที่ท่านพูดก็อยู่ในกลุ่มนี้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คดียาเสพติดรายย่อย ที่โทษจำคุกไม่เกิน 8 ปี ชั้นเยี่ยม ลดโทษ 1 ใน 5 ชั้นดีมาก ลดโทษ 1 ใน 6 ชั้นดี ลดโทษ 1 ใน 7 และชั้นกลาง ลดโทษ 1 ใน 8คดียาเสพติดรายใหญ่ ที่โทษจำคุกเกิน 8 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ชั้นเยี่ยม ลดโทษ 1 ใน 6 ชั้นดี มาก ลดโทษ 1 ใน 7 ชั้นดี ลดโทษ 1 ใน 8 และชั้นกลาง ลดโทษ 1 ใน 9 นักโทษเด็ดขาด หากท่านจะขอเปลี่ยนให้ลดโทษน้อยลง ตนไม่รู้ว่าสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร เพราะการขอพระราชทานอำนาจเป็นการทั่วไป เป็นของ คณะรัฐมนตรี แต่หากเฉพาะบุคคลเป็นอำนาจของรมว.ยุติธรรมที่ผ่านตนได้ตรวจสอบมาโดยตลอดเพื่อความเรียบร้อย ตนรับผิดชอบในแนวทางตรงนี้
ฟากนายวันชัย กล่าวอีกว่า สังคมข้องใจว่าในเรือนจำ การดำเนินการนี้เป็นลักษณะภายในของเรือนจำ คนจึงสงสัยว่าคนมีเงินติดคุกสบาย ดังนั้นจะมีความโปร่งใสหรือไม่ และบุคคลภายนอกมีสิทธิเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ เช่นการตั้งคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบโดยบุคคลนอก ตนจึงขอถามว่าจะมีการทบทวนเรื่องนี้หรือไม่
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวชี้แจงว่า “ผมยินดีเรื่องของการตรวจสอบ เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ของผม และกระบวนการต่างๆ ผมมั่นใจว่าไม่มีและจะไม่เอาข้าราชการที่ทำความผิดแบบนั้น ยินดีให้ตรวจสอบ หากท่านหรือใครจะตั้งคณะไปตรวจสอบเมื่อใด ผมพร้อมต้อนรับ”