ที่สำนักงาน คปภ. ถ.รัชดาภิเษก เขตจตุจักร นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจกระกันภัย(คปภ.) อันเนื่องมาจากกรณีที่มีการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทประกันภัยไปแล้วอย่างน้อย 2 บริษัทที่เคยขายกรมธรรม์ “เจอ-จ่าย-จบ” ทำให้หลายบริษัทขาดสภาพคล่องเพราะมีผู้ว่าโควิด-19ที่เอาประกันมากเกินคาดการณ์ จนต้องถูก คปภ.เสนอกระทรวงการคลังสั่งเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้วนั้น
โดยนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การสั่งปิดบริษัทประกันภัยไม่น่าจะเป็นทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น แม้โดยกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย 2535 มีกองทุนวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชีจ่ายหนี้ แต่สุดท้ายผู้ที่เสียหายมากที่สุดคือประชาชนที่ซื้อกรมธรรม์ไว้เป็นจำนวนมาก ที่จะต้องถูกโอนไปยังบริษัทประกันภัยอื่นโดยต้องแปลงสัญญาการคุ้มครองใหม่ไม่มี “เจอ-จ่าย-จบ” อีกต่อไป ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บริษัทประกันภัยขอเปลี่ยนแปลงสัญญาตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งเป็นแบบสัญญาที่ คปภ.ให้การรับรองแล้ว แต่แล้ว คปภ.กลับสั่งห้ามเปลี่ยนแปลง เพียงเพื่อเอาใจประชาชนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น จนในที่สุดทำให้บริษัทประกันภัยต้องล้มไปแล้วอย่างน้อย 2 บริษัท ทำให้พนักงาน คนงาน ลูกจ้างบริษัทประกันภัย ต้องตกงานทันทีหลายร้อยหลายพันคน
ปัญหาที่เกิดขึ้น ถือเป็นความล้มเหลวของ คปภ. และเป็นที่สงสัยของสังคมว่า คปภ.เป็นหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับส่งเสริมและพัฒนาการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้ทำหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายกำหนดอย่างไร ทำไมจึงปล่อยให้บริษัทประกันภัยล้มไปแล้วหลายบริษัทและอาจมีจ่อคิวล้มอีกหลายบริษัท หากไม่มีมาตรการออกมารองรับและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามการร้องขอของสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยเฉพาะการออกคำสั่งโดยที่ตนเองไม่มีอำนาจออกนั้นชอบหรือไม่
แต่ คปภ.กลับไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไปกรมธรรม์ที่ตนเองอนุมัติแล้ว เพื่อบีบบริษัทประกันภัยให้ทำตาม หากไม่ทำก็จะถูกถอนใบอนุญาต ซึ่งคำสั่งที่เลขาธิการ คปภ.ออกมาเป็นการขัดแย้งต่อกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ เป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยต้องล้มละลาย กระทบต่อประชาชนส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มประกันโควิดอีกหลายล้านกรมธรรม์ ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ด้วยเหมือนกัน
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงเดินทางมายื่นคำร้องต่อเลขาธิการ คปภ.เพื่อสอบถามและขอคำตอบต่อกรณีดังกล่าว เพื่อปกป้องและคุ้มครองประชาชนส่วนใหญ่และพนักงานลูกจ้างบริษัทประกันภัย ที่พลอยได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการใช้อำนาจของ คปภ.ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และหากตอบคำถามไม่ชัดเจนสมาคมฯจะนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ต่อไป