นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ถึงความมั่นคงของชาติ โดยมีภาพประกอบเป็นรูปของ นาง อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขณะร่วมกิจกรรมกับเยาวชน พร้อมขึ้นป้ายว่า “วางหนังสือ ถืออาวุธ” ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงอธิบายความหมายเอาไว้อย่างชัดเจนในงานพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อ 2 ธันวาคม 2544 ใจความตอนหนึ่งว่า
“ประเทศชาตินั้นประกอบด้วยพื้นแผ่นดินกับประชาชน และแผ่นดินนั้นเป็นที่เกิด ที่อาศัย ที่อำนวยประโยชน์สุขความร่มเย็นแก่ประชาชนให้สามารถรวมกันอยู่เป็นปึกแผ่น เป็นชาติได้ ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ จึงไม่ได้อยู่ที่การปกครองรักษาแผ่นดินไว้ด้วยแสนยานุภาพแต่เพียงอย่างเดียว หากจำเป็นที่ประชาชนจะต้องมีความวัฒนาผาสุข ปราศจากทุกข์ยากเข็นด้วย”
นายอัษฎางค์ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าความมั่นคงแห่งชาติมิได้หมายถึงแค่แสนยานุภาพทางการทหารเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงความผาสุกและความพึงพอใจของประชาชน ต่อสภาพความเป็นอยู่ นอกจากนี้ความมั่นคงของรัฐยังถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยว่า “ความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักรหมายถึง การให้เอกราชของชาติหรือสวัสดิภาพของประชาชนอยู่ในความมั่นคงและปลอดภัย รวมถึงการให้ประเทศดำรงอยู่ในการปกครองระบบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญ
นาย อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า ความมั่นคงแห่งชาติ แบ่งเป็นความมั่นคงแห่งชาติในลักษณะของรูปธรรมและนามธรรม ความมั่นคงแห่งชาติในลักษณะของรูปธรรมที่จับต้องได้ เช่น ดินแดน ประชากร รัฐบาล เอกราช การรับรองโดยนานาชาติ โดย ความมั่นคงแห่งชาติในลักษณะของนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น 1) ความจงรักภักดีต่อชาติ ประชากรเชื้อชาติเดียวกันหรือต่างเชื้อชาติกันแต่อยู่ภายใต้ประมุขของรัฐคนเดียวกัน ภายใต้ธงชาติผืนเดียวกัน โดยมีความกตัญญูรู้คุณหากประชากรมีความจงรักภักดีต่อชาติ ก็จะสามารถที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ ให้สามารถดำรงความเป็นประเทศอยู่ได้ 2) ความรู้สึกที่ดีของประชากรที่มีต่อรัฐบาล ก็มีผลต่อความมั่นคงของชาติ 3)ความมั่นคงแห่งชาติจะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์อันราบรื่นเรียบร้อยของความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและความสัมพันธ์ในกลุ่มสังคมต่างๆ
4) ความมั่นคงของชาติ คือความมั่นคงของสามสถาบันหลักอันได้แก่ ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ คือศูนย์รวมแห่งศรัทธาของประชาชน ที่จะทำให้ชาติเกิดความปึกแผ่น ความมั่นคงชาติ คือประชาชน ดังนั้น ชาติจะมีความมั่นคงปลอดภัยได้ เมื่อประชาชนมีจิตสมนึกที่ดีและไม่มีความแตกแยก
นาย อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า ความมั่นคงปลอดภัยทางการเมืองคือ 1) สถานการณ์ทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อถือและศรัทธาต่อระบอบการปกครองและต่อรัฐบาลผู้บริหารประเทศ 2) ประชาชนมีความเคารพเชื่อฟังและยอมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐ 3) ความเชื่อมั่นในรัฐบาลก็จะสามารถสร้างความเป็นธรรมในสังคมและป้องกันความแตกแยกในหมู่ประชาชน 4) ความสามารถในการรักษาดินแดนให้มีเอกราช มีปลอดภัยจากการแบ่งแยกและยึดครอง 5) ความมีเสถียรภาพโดยปราศจากการคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศจากอิทธิพลของต่างประเทศ
นายอัษฎางค์ กล่าวว่า ดังนั้น ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ คือความพยายามทำลายความมั่นคงของชาติในมิติต่างๆ ตามความหมายของความมั่นคงของชาติที่อธิบายไว้ข้างต้น
ซึ่งเราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีใครหรือกลุ่มใด ที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชีวิต ด้วยการเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะใด เพื่อพยายามทำลายความมั่นคงของชาติอย่างเป็นขั้นเป็นตอนครอบคลุมในทุกมิติ
“พวกเราประชาชนและรัฐบาลจะนิ่งเฉยต่อภัยคุกคามจากคนกลุ่มนี้ไปอีกนานแค่ไหน หรือจะยังคงดำเนินการป้องกันและปราบปรามอย่างเชื่องช้า จนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขถูกล้มล้างไปเสียก่อน” นาย อัษฎางค์ กล่าว