ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากราคาเหล็กที่ปรับสูงขึ้น กรมการค้าภายใน และกรมการค้าต่างประเทศ ได้ประชุมหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมผู้ผลิตเหล็ก จำนวน 7 ราย ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และสมาคมโลหะไทย
โดยการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนขณะนี้ กรมการค้าภายในได้ขอให้ผู้ผลิตเหล็กตรึงราคาจำหน่ายไม่ให้มีการปรับราคาสูงขึ้นเกินกว่าต้นทุนที่แท้จริง ขณะเดียวกันก็ได้เชื่อมโยงให้กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างสั่งซื้อเหล็กจากผู้ผลิตเหล็กโดยตรงเพื่อลดต้นทุนด้านราคาลงส่วนหนึ่ง ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับเป็นผู้ประสานงานกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ในเรื่องนี้
สำหรับกรณีที่อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างต้องการให้มีการทบทวนแนวทางการกำหนดค่าตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน (ค่า K) ของงานก่อสร้างภาครัฐนั้น กรมการค้าภายในได้ประชุมหารือกับสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว ทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกันในหลักการและเหตุผลของการกำหนดค่า K ซึ่งเป็นการสร้างความเป็นธรรมต่อทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้รับเหมาที่รับงานจากภาครัฐที่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเกินสมควรหากมีความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้างแต่ละช่วงเวลา ตลอดจนรับทราบถึงวิธีการคำนวณและปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อค่า K นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการกำหนดราคากลางของงานก่อสร้างภาครัฐด้วย
ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จะจัดทำรายละเอียดข้อมูลว่าแนวทางการกำหนดค่า K และการคำนวณราคากลางของหน่วยงานภาครัฐควรมีการทบทวนอย่างไร เพื่อเสนอให้สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมการค้าภายในได้สำรวจต้นทุนและราคาจำหน่ายเหล็กในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศเพื่อใช้ในการติดตามและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาสูงขึ้นเกินกว่าต้นทุนที่แท้จริง การจำหน่ายสินค้าแพงเกินสมควรจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการไม่ปิดป้ายแสดงราคาจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542