วันนี้ (24 ธ.ค.64) ผู้สื่อข่าวสถานการณ์โควิด19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะต่ำกว่า 100 รายติดต่อกันมาแล้ว 14 วัน แต่คลัสเตอร์ร้านอาหารสถานบันเทิง ที่พบผู้ป่วยมากขึ้น ทำให้คลัสเตอร์เหล่านี้ถูกจับตาเป็นพิเศษ ล่าสุดมีร้านอาหารถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เสี่ยงแล้ว 5 ร้าน ประกอบด้วย ร้านโสภา คาเฟ่, พอใจ บาร์ ถนนนิมมานเหมินท์ ซอย 7, ร้านบางขวางคาเฟ่ ตำบลสุเทพ, ร้านเลอเนิร์ฟคาเฟ่ ตำบลช้างเผือกอำเภอเมืองเชียงใหม่, ร้านปิ้งย่างหม่าล่า Hot6 อำเภอสันทราย และ อีก 1 พื้นที่ คือ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างมนตรีเชียงใหม่ ถนนเชียงใหม่-ลำปาง อ.เมืองเชียงใหม่
ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ยืนยันผลตรวจเพิ่มเติมพบกลุ่มนักศึกษา ที่เข้าไปใช้บริการในร้านอาหารย่านถนนนิมมานเหมินทร์ ติดเชื้อโควิด19 เพิ่มอีก 5 ราย ทำให้มียอดสะสมแล้ว 20 ราย โดย ผู้ป่วยรายใหม่ที่พบ 5 ราย 2 ใน 5 มีไทม์ไลน์ไปร้านพอใจบาร์ และเลอเนิร์ฟ ที่ประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยง และ อีก 3 ราย เป็นเพื่อนผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงพักห้องเดียวกันและเล่นกีฬาด้วยกันกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องตรวจหาเชื้อในคลัสเตอร์นี้อีกมากกว่าสิบราย
นอกจากนี้ยังมีคลัสเตอร์เดิมที่อยู่ระหว่างการควบคุมโรค พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 5 ราย ได้แก่ คลัสเตอร์ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล 3 ราย ยอดรวม 20 ราย เป็นพนักงานในร้านค้าย่อยชั้น G และผู้สัมผัสกับพนักงานประจำที่รายงานไปวานนี้ และคลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่ พบเพิ่ม 2 ราย ยอดรวม 2,110 ราย โดยทั้ง 2 ราย เป็นแม่ค้าขายของอยู่ในตลาดขายไส้ย่างและขายผัก ซึ่งทั้ง 2 รายได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว อยู่ระหว่างการสอบสวนว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร ขณะที่การติดเชื้อในกลุ่มครอบครัวพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 1 ราย จากครอบครัวที่อาศัยอยู่หมู่ 8 บ้านวรุณนิเวศน์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่
ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อจากการสัมผัสในสถานบันเทิงกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากไม่พบมาเป็นระยะเวลานาน จากการพบคลัสเตอร์ในร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เปิดให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านจำนวนหลายราย จึงขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคส่วนบุคคลเคร่งครัด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ขณะที่ภาพรวมของปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อของจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเป็นการสัมผัสในครอบครัวเป็นปัจจัยหลัก รองลงมาเป็นการติดเชื้อจากการสัมผัสในชุมชนและการสัมผัสในที่ทำงาน.