เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมร่วมกันของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ได้มีความเห็นร่วมกันในการตั้งฉายาของรัฐสภา เพื่อเป็นการสะท้อนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีข้อสรุปดังนี้
1.ฉายาสภาผู้แทนราษฎร : สภาอับปาง
เหตุผลเพราะสภาผู้แทนราษฎรเปรียบเสมือนเรือขนาดใหญ่ บรรทุกความรับผิดชอบชีวิตของประชาชนและงานบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยวิธีการเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับต่างๆ เพื่อให้หน่วยราชการได้มีอำนาจไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร แต่พบว่าเรือสภาฯลำนี้ในรอบปี 2564 กลับประสบปัญหาสภาล่มอับปาง โดยเริ่มตั้งแต่ปลายสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา สมัยแรก และหนักข้อขึ้นตลอดเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ซึ่งตามปกติปัญหาสภาล่มไม่ใช่เรื่องปกติ แต่สภาฯชุดนี้กลับทำให้เห็นอยู่บ่อยครั้งจนกลายเป็นความซ้ำซาก และไม่คิดที่จะอุดรูรั่วของเรือเพื่อป้องกันปัญหา ทั้งที่ความจริงสภาล่มคือเรื่องใหญ่ เพราะนั่นหมายถึงงานราชการต่างๆที่รอให้สภาผ่านหยุดชะงักลง ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส เพียงเพราะส.ส.ฝั่งรัฐบาลไม่ตระหนักถึงหน้าที่ของส.ส. ประกอบกับตายใจว่าตนเองเป็นเสียงข้างมากและพ้นจากภาวะเสียงปริ่มน้ำไปแล้ว จึงเข้าร่วมประชุมสภาฯน้อย ขณะเดียวกันส.ส.ฝ่ายค้านมัวแต่จ้องจะเล่นเกมการเมือง เมื่อเห็นว่าส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอยู่น้อย จะขอนับองค์ประชุมทันที และพร้อมใจไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ทั้งที่อยู่ร่วมพิจารณาเรื่องต่างๆในที่ประชุมสภาฯ ฉะนั้น การที่สภาอับปางบ่อยกว่าเรือล่ม จึงเป็นการสะท้อนว่าส.ส.ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยึดถือประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง
2.ฉายาวุฒิสภา : ผู้เฒ่าเฝ้ามรดก (คสช.)
เหตุผลเพราะสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ถูกมองว่าคอยทำหน้าที่ปกป้องเฝ้ารักษามรดกที่เป็นโครงสร้างและกลไกสืบทอดอำนาจของคสช.อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญที่ทั้งฝ่ายค้าน และภาคประชาชนพยายามเสนอขอแก้ไขเรื่องการล้มล้างอำนาจคสช. ทั้งการยกเลิกแผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี การยกเลิกคำสั่งต่างๆของคสช.และหัวหน้าคสช. การยกเลิกส.ว.หรือริบอำนาจส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต่างถูกส.ว.โหวตคว่ำ ไม่ให้ความเห็นชอบทุกครั้ง ใครที่คิดจะทำหรือแก้ไขกฎหมายที่มีผลกระทบต่อกลไกอำนาจของคสช. จะถูกผู้เฒ่าส.ว.ต่อต้าน ขัดขวางไปหมด เหมือนกับคอยพิทักษ์มรดกของคสช.ให้อยู่สืบต่อไป
3.ฉายานายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร : ชวนพลังท่อม
เหตุผลเพราะฉายานี้ได้มาจากการติดตามการทำงานของ “ชวน หลีกภัย” ทั้งการนั่งเป็นประธานบนบัลลังก์ในการประชุมสภาฯ และการประชุมรัฐสภา ที่สามารถนั่งควบคุมการประชุมได้อย่างยาวนาน พลันเสร็จจากงานประธานในที่ประชุมก็ปฏิบัติภารกิจอื่นๆอีกมากมาย ขึ้นเหนือล่องใต้เยี่ยมเยือนประชาชนทั่วประเทศอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ราวกับคนเคี้ยวใบกระท่อมที่จะมีเรี่ยวแรง อึด ถึก ทนมากเป็นพิเศษ
4.ฉายานายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา : ร่างทรง
เหตุผลเพราะนายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำงานให้คสช.มายาวนาน ตั้งแต่สมัยคสช.เรืองอำนาจ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จนมาถึงยุคปัจจุบันที่คสช. กลายร่างมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นายพรเพชรก็ยังได้รับความไว้วางใจต่อเนื่องให้เป็นประธานวุฒิสภา เพื่อเป็นหัวขบวนของสมาชิกวุฒิสภาคอยช่วยเหลือสนับสนุนภารกิจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่บทบาทของนายพรเพชรในฐานะประธานวุฒิสภา ไม่มีความโดดเด่น ทั้งที่เป็นถึงประมุขสภาสูง และยังถูกมองว่า คอยสนองความต้องการของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ตำแหน่งประมุขสภาสูงของนายพรเพชร จึงเป็นเพียงหัวโขนทางการเมือง แต่ไม่มีอำนาจแท้จริง ไม่ต่างจากร่างทรงที่ถูกฝ่ายกุมอำนาจกุมบังเหียน ต้องคอยช่วยคอนโทรลให้การทำงานของวุฒิสภาเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาล
5.ฉายานายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร : สมพงษ์ตกสวรรค์
เหตุผลเพราะแม้ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ จากนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ตาม แต่นพ.ชลน่าน เพิ่งเข้ามาและยังไม่ได้โปรดเกล้าฯ ฉะนั้น จึงขอตั้งฉายาให้กับนายสมพงษ์ไปก่อน อย่างไรก็ตาม นายสมพงษ์ได้ตำแหน่งมาเพราะมีคนมอบให้ นอนมาแบบแบเบอร์ ไร้คู่แข่ง แต่ครั้นได้รับตำแหน่งกลับไร้บทบาท ไม่โดดเด่น มิหนำซ้ำเรื่องเล็กๆน้อยๆยังพลาด เช่น เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายสมพงษ์ ก็เอ่ยชื่อ-นามสกุลพล.อ.ประยุทธ์ ผิดติดต่อกัน 2-3 ครั้ง กระทั่งมีการประชุมใหญ่สามัญพรรคเพื่อไทย นายสมพงษ์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เท่ากับหลุดจากตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯโดยปริยาย จึงเปรียบได้ว่าเป็น “สมพงษ์ตกสวรรค์”
6.ดาวเด่นแห่งปี : นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย