นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกันแถลงฉากทัศน์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย และอัพเดตสถานการณ์โอมิครอน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์โลกตั้งแต่มีการระบาดโควิด-19 ขณะนี้เป็นเวฟใหญ่ที่ 4 คือ โอมิครอน ซึ่งกำลังไต่ขึ้นในภาพรวมของโลก แต่อัตราเสียชีวิตไม่ได้กระดกขึ้นตามอัตราผู้ติดเชื้อ หมายถึงการระบาดไม่ได้ทำให้ผู้เสียชีวิตมากขึ้น แสดงว่า อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง โดยขณะนี้มี 106 ประเทศที่พบสายพันธุ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ประเทศไทย พบโอมิครอนสะสม 514 ราย และเรายังอยู่ในการควบคุมได้ แม้จะมีการไปพบปะ สัมผัสคนอื่น ระบบสอบสวนโรคเราสามารถติดตามและอยู่ในระบบได้แล้ว โดยรายงานผู้เสียชีวิตประจำวันนี้ 18 ราย ถือว่าต่ำสุดแล้ว เมื่อพิจารณาจะพบว่า 70-80% ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้น การรับวัคซีนจะลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต จึงจำเป็นต้องเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง ส่วนผู้ป่วยอาการหนักก็ลดลงต่อเนื่อง ล่าสุด สธ.ได้จัดทำระดับการเตือนภัยโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับ 3 โดยเป็นสัญญาณเตือน ว่า มีการติดเชื้อจากต่งประเทศ ซึ่งวันนี้ (27 ธ.ค.) เราพบว่ามาจากต่างประเทศ 92 ราย
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ตามที่ท่านปลัดฯ แจ้งให้ทราบว่า สธ. ประเมินสถานการณ์และประกาศแจ้งการเตือนภัยด้านสาธารณสุขเป็นระดับ 3 จากทั้งหมด 5 ระดับ เพื่อป้องกัน ตรวจจับการระบาด ควบคุมโรคและสถานการณ์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือของประชาชน ฉะนั้น หากมีการแจ้งเตือนภัยด้านสาธารณสุขเป็นระดับ 3 สิ่งที่ต้องเน้นย้ำและขอความร่วมมือ ได้แก่ 1.ปฏิบัติตามมาตรการ Covid-19 free settings อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสถานที่เสี่ยงระบบปิด เช่น ร้านอาหารที่เป็นห้องปรับอากาศ ที่แออัด พนักงานจะต้องฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน รวมถึงสุ่มตรวจ ATK เป็นระยะ และคัดกรองลูกค้า เว้นระยะห่าง ซึ่งที่มาผ่านพบว่าดำเนินการได้ดี แต่ยังพบหลายร้านย่อหย่อนไปบ้าง เช่น ไม่ได้ตรวจสอบการฉีดวัคซีนกับพนักงานใหม่ ซึ่งหากมีความแออัด จะต้องใช้ระบบจองคิว แนะนำลูกค้าปฏิบัติตามมาตราการ ทำความเข้าใจกับลูกค้า
“สัญญาณที่เราได้รับในเรื่องของการระบาดขณะนี้ แม้ว่าโอมิครอนความรุนแรงดูเหมือนน้อยยกว่าเดลต้า เพื่อความไม่ประมาทเนื่องจากยังมีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วติดเชื้อเข้ามา แม้จะมีมาตรการคัดกรอง ตรวจสอบวัคซีน ตรวจ RT-PCR หาเชื้อก่อนเดินทางและเมื่อมาถึงก็ต้องตรวจอีก ก็ยังพบผู้เดินทางเข้ามายังติดเชื้ออยู่ เพราะต่างประเทศยังมีความรุนแรงอยู่ จึงเป็นสัญญาณที่เราต้องระวังตัว รวมถึงยังเห็นคลัสเตอร์ในประเทศเป็นระยะ” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่คนไปต่างจังหวัด มีการดื่มสุรา หลายครั้งเป็นร้านอาหารระบบปิด หรือบาร์ที่เปลี่ยนเป็นร้านอาหาร ก็ทำให้เกิดคลัสเตอร์ที่เราเห็น รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ดังนั้น ความร่วมมือประชาชนช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ให้มีความสุขและปลอดภัยคู่กันไปด้วยมาตราการ VUCA ที่ป้องกันได้ทุกสายพันธุ์ คือ Vaccine, Universal Prevention, Covid-19 free settings และ ATK อย่างไรก็ตาม ครอบครัวที่มีกลุ่มเสี่ยง 608 ขอความกรุณาลูกหลานพามารับวัคซีน หรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปฉีดที่บ้าน
“ย้ำว่าวัคซีนเข็ม2 แล้วต้องฉีดเข็มกระตุ้นตามระยะที่ สธ.กำหนด และย้ำอีกว่าวัคซีนมีเพียงพอ พิสูจน์ว่ามีความปลอดภัยสูง จากที่มีรายงานว่าเสียชีวิตหลังรับวัคซีน พอสอบสวนไปก็พบว่าเกิดจากสาเหตุอื่น ไม่เกี่ยวกับวัคซีน” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวย้ำว่า สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้พบว่าคนไทยเดินทางไปค่อนข้างเยอะ แต่อย่างที่ทราบคือประเทศเราปลอดภัยกว่าค่อนข้างเยอะ เช่นหลายคนไปยุโรปก็เดินทางเอาเชื้อกลับมาฝาก ดังนั้น เมื่อเดินทางกลับมาไทยแล้วก็ขอให้พึงระลึกเสมอว่าแม้ตรวจ RT-PCR ไม่พบเชื้อ แต่ในสัปดาห์แรกที่เราพบตัวอย่างในคลัสเตอร์หลายจังหวัด เช่น กาฬสินธุ์ ขอให้กลับมาเพื่อสังเกตอาการ อย่าเพิ่งไปทำกิจกรรมที่พบคนเยอะ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกัน ในระบบปิด ซึ่งเป็นการสร้างความเสี่ยงให้กับตัวท่าน ชุมชนและจังหวัด
“ความเสี่ยงนี้เชื่อว่าทุกคนรู้อยู่แล้ว เพียงแต่บางครั้งคิดว่าไม่เป็นอะไร ก็ขอให้ถือว่าช่วงนี้ เราขอความร่วมมืออย่างจริงจัง” นพ.โอภาส กล่าว
ทั้งนี้ การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะในช่วงเทศกาล สธ.ร่วมกับกระทรวงคมนาคม จัดมาตรการต่างๆ ให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งด้านพนักงานให้บริการยานพาหนะส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ส่วนมาตรการที่เราจะออก เช่น การเดินทางมากกว่า 4 ชั่วโมง ขอให้การตรวจ ATK ผู้เดินทาง อย่างไรก็ตาม ขอให้หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ทั้งคนในครอบครัวและคนรู้จัก รวมถึงการคัดกรองหาเชื้ออย่างต่อเนื่อง ก่อนกลับมาทำงานหลังเทศกาลปีใหม่
“เชื่อว่าหลังปีใหม่อาจมีการระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะโอมิครอนที่ติดเชื้อง่าย ดังนั้น ขอให้ท่านปฏิบัติมาตรการทำงานจากที่บ้าน(Work From Home) อย่างต่อเนื่อง” นพ.โอภาส กล่าว
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การประเมินความเสี่ยง 5 ระดับ คือ สีแดงเข้ม แดง ส้ม เหลือง และเขียว เราดูจาก 1.อัตราผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยต่อแสนประชากร ซึ่งเป็นข้อมูลรายสัปดาห์ หากสีแดงคือติดเชื้อมากกว่า 50 คน/แสนประชากร/วัน และ 2.ความสามารถรองรับผู้ป่วย เตียงเขียว เหลือง แดง ซึ่งจะเน้นย้ำในผู้ป่วยหนัก นอกจากนั้น ยังดูการฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง คู่กับการระบาดในคลัสเตอร์ว่าควบคุมได้อย่างในระดับพื้นที่ จากนั้นจะแจ้งเตือนภัย 5 ระดับ คือ 1.สีเขียว ใช้ชีวิตตามปกติ เปิดโควิดฟรีเซ็ตติ้งทุกแห่ง การเดินทางข้ามประเทศได้ปกติ
2.สีเหลือง ให้เร่งเฝ้าระวัง จำกัดเข้าพื้นที่ปิด เริ่มระบบ Test & Go 3.สีส้ม จำกัดการรวมกลุ่ม ปิดสถานบริการ ทำงานจากที่บ้าน คัดกรองก่อนเดินทาง และเปิดระบบแซนด์บ็อกซ์ 4.สีแดง ปิดสถานที่เสี่ยง เปิดเฉพาะสถานที่จำเป็นต้องชีวิต ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ ใช้ระบบกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ แบบลดวันกักตัว และ 5.สีแดงเข้ม จำกัดการเดินทางและกิจกรรม เคอร์ฟิว และใช้ระบบกักตัวผู้เดินทางทุกราย
“ความร่วมมือมีความสำคัญมากโดยเฉพาะสถานการณ์ดีขึ้น แต่โอมิครอนเป็นความเสี่ยง แม้อาการไม่รุนแรง แต่เราไม่วางใจ เพราะหากพบผู้ติดเชื้อมาก โอกาสที่จะเข้ารพ.และป่วยหนักจนเสียชีวิตก็เกิดขึ้นได้” นพ.โอภาส กล่าว