ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ว่า คนไทยอย่างไรก็ติดโอไมครอน ไม่ช้าก็เร็ว ทั่วหรือเกือบทุกคน ขึ้นกับ 1. ระยะเวลาหลังได้วัคซีน แม้เป็นวัคซีนที่คิดว่าดีที่สุดเช่น ไฟเซอร์หรือโมเดนา 3 เข็ม ซึ่งแรงกว่า แอสตร้า 3 เข็ม มากกว่า 10 เท่า เมื่อพ้นสามเดือนไปแล้วประสิทธิภาพจะตกลงเหลือ 40% ตามข้อมูลของไฟเซอร์ 2. ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนแม้เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน ก็ติดโอไมครอนได้ 3.การฉีดกระตุ้นขณะนี้ เป็นการหน่วงให้ไม่มีการติดเชื้อ มโหฬารทันทีทันใด เช่นเป็น 10,000 เป็นแสน เป็นล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้จะมีคนที่ไม่ได้รับวัคซีนปนอยู่ด้วย หรือแม้แต่ได้วัคซีนแต่ตกอยู่ในกลุ่มสูงอายุหรือมีโรคประจำตัว ซึ่งทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลง และทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนต้องเข้าโรงพยาบาล ไอซียู ในจำนวนมากพร้อมๆกัน เป็นต้น
ศ.นพ. ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า 4.คนที่ได้รับวัคซีน หรือเคยติดเชื้อมาก่อน ถ้าไม่เปราะบางจริงๆ เมื่อติดโอไมครอน หวังว่าอาการจะผ่อนหนักเป็นเบา ขึ้นกับระบบภูมิความจำ “ยังมีอยู่” หรือถูกปลุกขึ้นมาทันท่วงที ถูกที่ ทันเวลาได้หรือไม่ 5.ในเมื่อวัคซีนด้อยประสิทธิภาพลงอย่างมาก วิธีการฉีดต้องทำให้มีผลแทรกซ้อนน้อยที่สุดโดยการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ที่ใช้ปริมาณน้อย และผ่านคนละกลไกกับแบบเข้ากล้าม ถ้า เกิด “ซวย” ก็ซวยน้อยหรือรอดเลย 6.ยาที่จะใช้รักษาตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อมีการติดเชื้อไม่ให้ต้องเข้า โรงพยาบาล มีความจำเป็น และมีความสำคัญ พอกันหรืออาจจะมากกว่าวัคซีนด้วยซ้ำ ฟ้าทลายโจร ไอเวอร์แมคติน ฟลูวอกซามีนหรือฟลูออกซิทีน
ศ.นพ. ธีระวัฒน์ ยังให้หมายเหตุด้วยว่า การติดทุกคนในพื้นที่ ทั้งประเทศ มาจากการติดตามสถานการณ์ และควบรวมกับคุณสมบัติของไวรัส จาก นักวิเคราะห์อังกฤษ หลายท่าน รวมถึง ดร. จอห์น แคมปเบล