วันที่ 30 ธ.ค. 64 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย ว่า ข้อมูลการตรวจหาสายพันธุ์โควิด-19 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.-29 ธ.ค.64 พบการติดเชื้อโอมิครอน สะสม 934 ราย แบ่งเป็นพบในผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 577 ราย และติดเชื้อในประเทศ 357 ราย เฉพาะวานนี้(29 ธ.ค.) เพิ่มขึ้น 194 ราย แบ่งเป็นมาจากต่างประเทศ 88 ราย ติดเชื้อในประเทศ 106 ราย ทั้งนี้ พบการติดเชื้อโอมิครอนแล้วในทุกเขตสุขภาพ โดยแนวโน้มพบการติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ เนื่องจากการเดินทางเข้าประเทศเริ่มชะลอตัว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านออกมาให้ข้อมูลว่า สำหรับผู้ที่รับวัคซีนโควิดครบ 2 เข็มแต่มีการติดเชื้อโอมิครอน พบว่ามีความรุนแรงลดลงกว่าเดลต้า เป็นเหมือนโอมิครอนไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า นั่นเป็นข้อเท็จจริงอยู่แล้ว เนื่องจากเราทราบดีว่า การสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเกิดขึ้นจาก 2 ทางคือ 1.การฉีดวัคซีน และ 2.ภูมิคุ้มกันที่เกิดหลังจากติดเชื้อ นั่นหมายความว่า หากคนที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มเป็น ไพรเมอร์รี่วัคซีน(primary vaccine) แล้วเกิดการติดเชื้ออาการก็จะไม่รุนแรง แล้วเมื่อหายก็จะเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติขึ้น ซึ่งก็จะเหมือนกระตุ้นภูมิฯ ในร่างกาย
“แต่เราจะเอาภูมิฯ ที่เกิดจาก 2 กรณีนี้มาเทียบกันไม่ได้ว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น กับติดเชื้อแล้ว อันไหนจะกระตุ้นภูมิฯ ได้สูงกว่า เพราะผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่น ก็ยังสามารถติดโอไมครอนได้ แต่แน่นอนว่าหากรับวัคซีนแล้ว ความรุนแรงของโรคจะลดลง จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงขอให้ทุกคนมารับวัคซีน โดยเฉพาะเข็ม 1 และ 2 ส่วนผู้ที่รับครบ 2 เข็มแล้ว เรายืนยันว่าการกระตุ้นภูมิฯ ด้วยวัคซีน ดีกว่ากระตุ้นด้วยการติดเชื้อแน่นอน” นพ.ศุภกิจ กล่าวในที่สุด