พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า กรณีที่มีเจ้าหน้าที่บางคนในหน่วยงานเล็กๆ ของสหประชาชาติและประเทศสหรัฐอเมริกาออกมาพูดถึง ป.อาญา ม.112 ว่า “ไม่ควรมี” นั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างรบกวนจิตใจคนไทยทั้งประเทศพอสมควร ตนพยายามสงบจิตใจ ไปเที่ยว ไปดูหนังฟังเพลง ก็พบก็เจอแต่คนพูดเรื่องนี้มาตลอด เมื่อเอามารวมกับเรื่อง “อากง” ที่กลุ่มบุคคลมีปมด้อยตั้งฉายาให้คนแก่กะโหลกกะลาคนหนึ่ง คนไทยกลุ่มนี้อยู่สบายจนไม่รู้จักว่า “สิ้นชาติแล้วจะเป็นอย่างไร” หรือบางคนก็ “ถ่ายภาพโป๊” เลี้ยงชีวิตไปเรื่อยๆ บางคนก็ใช้อินเตอร์เน็ตหลอกผู้หญิงมาปล้ำ, บางคนก็เอาลูกศิษย์มาเป็นเมีย, บางคนมาหาเงินโดยวิธีขอสปอนเซอร์, บางคนอาศัยบารมีพ่อแม่มาตลอด ไม่รู้ว่าโลกจริงๆ มันเป็นอย่างไร ถูกเขาหลอกมาเป็นเครื่องมือฯลฯ วันนี้ความสงบในจิตใจของตนก็หายไปครับ อุตส่าห์ไม่เขียนเรื่องการเมืองแล้ว ยังต้องมาเขียนเรื่อง ม.112 แทนอีก เพราะอดใจไม่ได้ ถ้าไม่เขียนแล้วต้องอึดอัดใจตายแน่ๆ
พลโท นันทเดช กล่าวว่า ตามที่ตนเขียนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สถาบันฯ อยู่เฉยๆ พวกนี้ก็ไปตอแย ติดเล็กติดน้อย ส่วนใหญ่เป็นคนมีปมด้อย อยากจะแสดงตัวเองว่ากูเก่ง กูกล้า ซึ่งถ้าทำในทางวิชาการแล้วก็ไม่เป็นไร ไม่เช่นนั้น อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือ อ.ธงชัย วินิจกุล ต้องโดน ม.112 ไปแล้ว แต่การด่าสถาบันฯ ซึ่งๆ หน้าด้วยคำหยาบคาย, พูดเท็จ, การตัดต่อ VDO หรือรูปภาพ แบบนี้มันเจตนาหาเรื่องโดยตรง เมื่อถูกจับๆ ได้ก็มาบ่นโน่นบ่นนี่ คนบ่นก็ไม่ได้มาจากคนทำหรอกครับ มาจากพวกยุแหย่ให้เขาติดคุกนั่นเอง
พลโท นันทเดช กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันฯ อยู่รวม 6 ฉบับด้วยกัน แตกตัวมาจากรัฐธรรมนูญ ม.8ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” และ ป.อาญา ม.112 ที่ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี” นอกจากนั้นที่เหลืออีก 4 ฉบับเป็นกฎหมายส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติทั้งนั้น
กฎหมายของไทยทุกฉบับมีลักษณะเป็นกฎหมาย “สากล” ทุกประการโดยอยู่ในหลักการ (1) การคุ้มครองประมุขของประเทศ (2) การคุ้มครองประมุขหรือตัวแทนประมุขของประเทศอื่นๆ (ม.133 และ 134 กฎหมายอาญา) และ (3) หลัก Reciprocity หรือ หลักการอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยอย่างเท่าเทียมกัน ในการคุ้มครองตัวแทนของแต่ละประเทศ ตามป.อาญา ม.130-132 ซึ่งกฎหมายในหลักสากลของประเทศไทยนี้ จะสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศที่เจริญแล้วทุกประเทศ บางประเทศกฎหมายยังตีความในทางกว้าง คุ้มครองไปถึงศาล หรือรัฐสภาฯ อีกด้วย
พลโท นันทเดช กล่าวว่า ในส่วนของพระมหากษัตริย์ นอกจากการเป็นประมุขรัฐซึ่งอยู่ในลักษณะของสถาบัน (Institution) แล้ว การรับรองสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ (Sacred) เป็นที่เคารพ สักการะ หรือละเมิดมิได้ (Inviolable) ในฐานะพระมหากษัตริย์ตามจารีตประเพณียังมีเพิ่มเติมขึ้นมาอีกสถานภาพหนึ่งด้วย สรุปแล้ว พระมหากษัตริย์ของทุกประเทศมีลักษณะเป็นสถาบัน (ไม่ใช่ตัวบุคคล) และเป็นประมุขของประเทศ (Head of State) อีกฐานะหนึ่งด้วย การคุ้มครองพระมหากษัตริย์จึงอยู่ในกฎหมายว่าด้วยความผิดทางด้านความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกฎหมายอาญา ดังนั้นใครละเมิดสถาบัน ถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหาย ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ร้องทุกข์ กล่าวโทษได้ เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียที่ “ความมั่นคงแห่งชาติ” ถูกทำลายลง ซึ่งอาจจะทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของตนอาจสูญเสียไปได้ หรือมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากความสุขที่ควรได้รับ ซึ่งตรงข้ามกับการละเมิดบุคคลธรรมดา ตาม ม. 326 ถือว่าเป็นความผิดเฉพาะตัว (เจ้าตัวหรือผู้เสียหายต้องฟ้องร้องเอง) เพราะผลไม่กระทบต่อความมั่นคง ในขณะที่บุคคลธรรมดาสามารถฟ้องร้องกันเองได้ จึงสามารถตกลงยอมความกันได้
พลโท นันทเดช กล่าวอีกว่า ในหลักการดังกล่าวนี้ ถ้ามีการยกเลิก ม.112 จะเกิดอะไรขึ้นต่อประเทศไทย 1. การที่บุคคลในสถาบันฯ ถูกละเมิด ในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐ การจะไปฟ้องประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของตัวเอง เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง ดังนั้นการยกเลิก ม.112 จึงเป็นการกำจัดสิทธิของบุคคลในสถาบันฯ ในการปกป้องสิทธิของตนเองไปโดยปริยาย ทำให้มีสิทธิส่วนบุคคลต่ำกว่าราษฎรธรรมดาๆ 2. ในจารีตประเพณี สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ มีความใกล้ชิดกับประชาชนตลอดมา มีกำเนิดมาจากความสัมพันธ์แบบพ่อปกครองลูก เป็นทุกข์ร้อนแทนราษฎร ปกป้องราษฎร ด้วยการสู้รบในแนวหน้ามาตลอด จึงไม่เหมือนสถาบันกษัตริย์ในต่างประเทศ ที่มาจากการเป็นเจ้าของที่ดิน, มาจากอิทธิพลทางศาสนา ฯลฯ ดังนั้นสถาบันกษัตริย์จึงถือว่าเป็นความมั่นคงของชาติทั้งในรูปแบบของกฎหมายและความเป็นจริง ถ้าเรายกเลิกก็เท่ากับยอมให้มีคนมาทำลายความมั่นคงของประเทศไทยได้ง่ายๆ
พลโท นันทเดช กล่าวอีกว่า 3.การยกเลิก ม.112 ก็เท่ากับประเทศไทยไม่ให้ความคุ้มครองประมุขของประเทศตนเอง จะส่งผลทำให้ประเทศไทยเสียศักดิ์ศรีในการดำรงตนอยู่ในกลุ่มประเทศที่เจริญแล้วทั้งด้านกฎหมายและประเพณีนิยม จะเหมือนกับประเทศกัมพูชา ที่แม้แต่สหประชาชาติเองยังไม่ไว้ใจต่อสถานภาพทางกฎหมายเลย 4. การยกเลิก ม.112ที่ไม่ให้การคุ้มครองประมุขของประเทศ เท่ากับต้องยกเลิกกฎหมายที่คุ้มครองประมุข หรือตัวแทนประมุขของประเทศอื่นที่อยู่ในไทย (เอกอัครราชฑูตและสิทธิทางการฑูตของ จนท.UN) ตามไปด้วย เพราะเป็นกฎหมายที่เกิดจากการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างประเทศต่างๆ ลองคิดดูว่าประเทศไทยจะสับสนวุ่นวายขนาดไหน
พลโท นันทเดช กล่าวว่า ประมุขของประเทศที่มีเกียรติ ย่อมทำให้ประชาชนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีตามไปด้วย ถ้าประมุขของประเทศไม่ได้รับความคุ้มครอง ก็จะทำให้ประชาชนคนไทยไร้เกียรติ มีสภาพคล้ายคนป่าเถื่อน คนไทยจะถูกดูถูกตามไปด้วยในสังคมโลก นานนมแล้วที่กฎหมายนี้คงอยู่คู่กับประเทศไทย ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เมื่อนายทักษิณ ชินวัตร หมดอำนาจไป การเคลื่อนไหวกระทบต่อสถาบันฯ เพิ่มขึ้นมากมาย มีลักษณะเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งในและนอกประเทศ ผิดจากเหตุการณ์ปกติ คนที่ถูกลงโทษด้วยกฎหมาย ม.112 นั้น มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่งกับกลุ่มที่สนับสนุนนายทักษิณ เกือบ 90 % ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น พอใครทำผิดก็มีทนายมาดูแลทันที แปลกไหม บางทีก็จ่ายเงินให้ผู้ต้องหาด้วย ไม่รู้ว่านายทักษิณ รู้เรื่องแบบนี้หรือเปล่า ถ้ารู้ ก็ควรบอกให้เลิกๆ ซะที ไม่เช่นนั้นนายทักษิณ จะเป็นคนเสียหายเอง เพราะคนไทยไม่ยอมใครเรื่องในหลวง
ม.112 จึงเป็นกฎหมายที่ถูกต้องตามหลักการสากลทุกประเทศและสมบูรณ์ด้วยแบบธรรมเนียมจารีตประเพณี จึงไม่ควรยกเลิกอย่างเด็ดขาด
พลโท นันทเดช กล่าวว่า จุดอ่อนของกฎหมายมีอยู่จุดเดียว คือ การพิจารณาว่า “อะไรคือการหมิ่นสถาบันฯ อะไรคือการไม่หมิ่นสถาบันฯ” ปัจจุบันตำรวจมีคณะกรรมการตรวจสอบว่า เรื่องไหนหมิ่นสถาบันฯ บ้าง การจับผิดจับถูกจึงมาจากคณะกรรมการชุดนี้ของตำรวจครับ ดังนั้นจึงควรแก้ไขให้ชัดเจน ให้มีกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพอสมควร มาเป็นผู้พิจารณา ลงมติแบบลูกขุน เรื่องก็จะยุติไปเอง
พลโท นันทเดช กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่อง “อากง” นั้นตนสรุปสั้นๆ ว่า มีผู้ใช้โทรศัพท์ของอากงส่งข้อความหมิ่นสถาบันฯ ถึง 4 ครั้ง หลังจากส่งแล้วก็ถอดซิม DTAC ออกแล้ว เปลี่ยนซิม TRUE เข้าไปแทน ใช้พูดคุยกันตามปกติ พอวันรุ่งขึ้นหรืออีก 2-3 วันต่อมาก็เปลี่ยนซิม DTAC ส่งข้อความหมิ่นสถาบันฯ อีก แล้วก็ถอดซิม DTACออก ใส่ซิม TRUE เข้าไปใช้พูดคุยอีก ทำแบบนี้ทั้งหมด 4 ครั้ง (ส่อให้เห็นว่าเจตนาทำแน่นอน) การที่มีการส่งข้อความและพูดคุยจากโทรศัพท์เครื่องเดียวกัน แม้จะเปลี่ยนซิมการ์ดก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่า มาจากโทรศัพท์เครื่องไหน เป็นผลทำให้ตำรวจทราบว่ามาจากบ้านพักหลังไหน จึงเข้าจับกุม การตรวจค้นโทรศัพท์ซ่อนในตู้เสื้อผ้ารวม 3 เครื่อง (ทำไมต้องไปซ่อน) “อากง”สารภาพว่าเป็นเจ้าของโทรศัพท์จริง แต่ส่งข้อความไม่เป็น (ตอนนี้อากงเป็นทั้งเจ้าของโทรศัพท์และทั้งเจ้าของบ้านที่ใช้โทรศัพท์)
พลโท นันทเดช กล่าวว่า มีการต่อสู้ว่า หมายเลขประจำโทรศัพท์ (อีมี่) หลักที่ 15 ไม่ถูกต้องกับในเอกสารของ TRUE และ DTAC แต่การพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญทำต่อหน้าศาลและจำเลย ชี้ให้เห็นว่าถูกต้อง สู้ต่อว่า หมายเลขอีมี่แก้ได้ ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าแก้ไม่ได้ ให้ไปหาคนแก้ได้มา ก็หาไม่ได้อีก บอกว่าโทรศัพท์เอาไปซ่อม ให้ไปชี้ร้านที่ซ่อม ก็บอกว่าจำร้านไม่ได้ และยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นข้อมูลพยานแวดล้อม เช่น ไปตรวจสอบกับบุคคลปลายทางโทรศัพท์เครื่องที่ “อากง” เป็นเจ้าของในเวลาใกล้เคียงกับการส่งข้อความกระทบสถาบันฯ บุคคลนั้นก็ยอมรับว่า “อากง” เป็นคนโทรมาจริง ฯลฯ ศาลก็ต้องตัดสินตามรูปคดี 4 กระทง (4กรรม 4วาระ) ด้วยความเมตตาที่สุด ในฐานะที่ไม่รับสารภาพ กระทงละ 5 ปี รวม 20 ปี มาถึงตรงนี้เห็นได้ชัดเจนว่า “อากง” ตกเป็นเครื่องมือของขบวนการที่เข้ามายุยงไม่ให้สารภาพ ทั้งๆ ที่จำนนด้วยหลักฐานแล้ว อ่านแล้วช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ให้ความจริงเหล่านี้ส่งต่อออกไปให้โลกรู้ เมื่อกระทรวงต่างประเทศพึ่งพาไม่ได้ ช่วยกันส่งข้อความไปคอมเมนต์ที่เฟสบุ๊คของโอบามาให้ยับเยินเลย ได้ทุกภาษาเขามีคนแปลให้เสร็จอยู่แล้ว