วันที่ 5 ม.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ต.อ.คงฤทธิ์ พลศรี รอง สว.สอบสวน สภ.เมืองนครพนม รับแจ้งว่า มีโจรใจบาปขโมยรูปปั้นปุงเถ่ากง – ม่า 2 รูป หายไปจากหิ้งบูชา บริเวณศาลเจ้าพ่อหมื่นนครพนม ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ไปที่เกิดเหตุ พร้อมกับ พ.ต.อ.ณัฏฐวิชฌ์ ราชแก้ว ผกก.สภ.เมืองนครพนม และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน สภ.เมืองนครพนม สมาชิกสมาคมพ่อค้าจังหวัดนครพนม จำนวนหนึ่ง
ที่เกิดเหตุ ไม่พบ รูปปั้นปุงเถ่ากง – ม่า ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยเชื้อสายจีน ในจังหวัดนครพนม มีอายุประมาณ 70 ปี ซึ่งประดิษฐานอยู่ในที่ดังกล่าว ผู้พบเห็นคนแรก คือ นายนิธินันท์ ทวีพัชรภิรมย์ (เฮียซ้ง) เจ้าของร้านโชคชัยยางยนต์ ถ.นิตโย อ.เมือง จ.นครพนม นายนิธินันท์ฯ กล่าวว่า ตนได้มากราบไหว้ปุงเถ้ากง – ม่า ที่ศาลเจ้าพ่อหมื่นฯ เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เพราะตนได้ฝันว่า เมื่อ 2 วันที่แล้ว เดินางมาที่วัดโอกาส ได้พบเงินถุงใหญ่อยู่ภายในวัด ตกใจตื่นขึ้นมา คิดว่าทำไมจึงฝันมาเอาเงินวัด เลยคิดว่า ควรจะมาไหว้สักการะบูชา เพื่อเป็นศิริมงคล โดยเมื่อมาถึงศาลฯ ปรากฎว่า รูปปั้นปุงเถ่ากง – ม่า ทั้งสองรูปได้หายไปจากที่ตั้ง จึงแจ้งไปทางสมาชิกสมาคมพ่อค้าจังหวัดนครพนม แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครพนม เจ้าหน้าที่ฯ มาถึงที่เกิดเหตทำการตรวจสอบสถานที่ และตรวจสอบลอยนิ้วมือของคนร้าย รอบ ๆ ศาลเจ้าฯ ทุกตารางนิ้ว
นางสาววันเพ็ญ เชาว์ศรีกุล เจ้าของร้านไทยเจริญรุ่งเรือง ขายอุปกรณ์ก่อสร้างทั่วไป ถ.ศรีเทพฯ กล่าวว่า ตนจะมาไหว้ปุงเถ้ากง – ม่า ทุกวัน เมื่อวานยังเห็นอยู่บนที่ตั้ง โดยในวันนี้ตนมาที่วัดประมาณ 09.00 น. ก็ไม่เห็นแล้ว
ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ คาดว่า โจรใจบาป คงจะมาขโมย ในช่วงตอนดึกของคืนวันที่ 4 ม.ค. 65 ซึ่งจะติดตามหาคนร้ายให้ได้ เพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะของชาวนครพนม ซึ่งศาลเจ้าพ่อหมื่นตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับ วัดโฮกาส เป็นอีกวัดหนึ่งที่สำคัญของจังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ถนนสุนทรวิจิตร บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยมีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม อาศัยอยู่รวมกัน ด้านหน้าของวัดโอกาสเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อหมื่นนครพนม ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่ประชาชนในชุมชนนับถือ เคารพสักการะบูชา มานานแล้ว ภายในอุโบสถหลังเดิมของวัด บนฝาผนัง มีงานปะติมากรรม พงศาวดารจีน เรื่อง “สามก๊ก” เจ้าอาวาสในขณะนั้นคือ พระครูสนทรกัลป์ยาณพจน์ เป็นผู้ดำริให้สร้างขึ้น เป็นกุศโลบายในการสั่งสอนญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด เพื่อการอยู่ร่วมกัน แม้ต่างเชื้อชาติ แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว อันเกิดจากความสามัคคี ความเสียสละ ความรัก และความอดทนของประชาชนในชุมชนวัดโอกาส.
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญากุล ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.นครพนม